กรุงเทพฯ 22 มี.ค.-หลัง คสช.ออกมาตรา 44 คุมเข้มวินัยจราจรครอบคลุมรถยนต์ รถตู้สาธารณะ เพื่อความปลอดภัยในหลายเรื่อง มีความเห็นหลากหลาย เช่น การบังคับให้ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร แต่ไม่เกี่ยวข้องกับรถกระบะที่มีการต่อแคปด้านหลัง และรถประเภทอื่นที่ไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ โดยเพิ่มโทษหนักขึ้นมีทั้งระงับใช้รถ เพิกถอนทะเบียนรถ และพักใบอนุญาตการประกอบกิจการรถ
ความเห็นของผู้ใช้รถยนต์มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังรัฐใช้ ม.44 คุมเข้มวินัยจราจร สั่งให้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
นอกจากรัฐจะใช้ ม.44 สั่งให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกคนต้องรัดเข็มขัดนิรภัยแล้ว ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรถ หรือล็อกล้อรถที่ทำผิดกฎหมายจราจรได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานด้วย
หลังทำผิดกฎจราจร แล้วไม่จ่ายค่าปรับตามใบสั่ง เจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งให้มาชำระภายใน 15 วัน หากยังไม่ดำเนินการ ข้อมูลนี้จะถูกส่งไปให้กรมการขนส่งทางบกเรียกเก็บค่าปรับที่ค้างชำระก่อนต่อภาษี และหากยังไม่จ่ายอีก กรมฯ จะออกให้เพียงป้ายต่อภาษีชั่วคราว มีอายุ 30 วัน หากพ้นจาก 30 วัน ตำรวจจะดำเนินคดี
ส่วนมาตรการสร้างความปลอดภัยในรถโดยสารธารณะ นอกจากให้รถตู้ที่วิ่งใน กทม.และรถตู้ระหว่างจังหวัดปฏิบัติตามกฎหมายเดิมอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังให้ปรับปรุงตัวรถ บรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง ผู้ขับรถตู้โดยสารส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ก็มองว่ามาตรการนี้ทำให้รับผู้โดยสารได้น้อยลง 1-2 คน อย่างคนนี้ มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งค่าผ่อนรถเกือบ 50,000 บาทต่/เดือน จึงอยากเสนอให้รัฐช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น อายุ และประสบการณ์คนขับ
อธิบดีกรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า ประเด็นรถตู้โดยสารที่กำหนดให้มี 13 ที่นั่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเปิดประตูด้านหลัง กรณีรถเกิดอุบัติเหตุ
ขณะที่พรุ่งนี้ กรมการขนส่งเตรียมหารือร่วมกับตำรวจ วางแนวทางเชื่อมต่อข้อมูลกัน กรณีเรียกเก็บค่าปรับรถยนต์ตามคำสั่ง ม.44 พร้อมทั้งชี้แจงเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งยังไม่ครอบคลุมรถกระบะที่มีการต่อแคปด้านหลัง และรถบางประเภท เช่น สองแถว ที่ไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้.-สำนักข่าวไทย