รัฐสภา 28 มี.ย.-“มีชัย” แจง กสม.เข้าสรรหากรรมการองค์กรอิสระไม่ได้ เป็นองค์กรอิสระตาม รธน.60 ยันใช้มาตรฐานเดียวกันทุกองค์กร หาก กกต.สงสัย ส่งศาลรธน.ตีความได้ ระบุ กรธ. ล้มระบบไพรมารีโหวตไม่ได้ ชี้ หากเขียนกฎหมายให้ดีจะช่วยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ วิป สนช.ระบุ แม้กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะบัญญัติให้เซตซีโร กสม. แต่กรรมการชุดปัจจุบันยังสามารถสมัครสรรหาได้ว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองให้ กสม. เป็นองค์กรอิสระ และตามบทเฉพาะกาลให้ กสม. ทำหน้าที่ต่อไป จึงถือว่า กสม. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่สามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้ กรธ. ใช้มาตรฐานเดียวกันหมดทุกองค์กร ไม่ใช่ 2 มาตรฐาน หากหน่วยงานใด รวมถึง กกต. มีความสงสัย ก็สามารถให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้
ประธาน กรธ. ยังกล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองแสดงความกังวล หากไม่มีการเลือกตั้ง จะไม่สามารถกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ ภายใน 1 ปีให้แล้วเสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ไม่มีผลกระทบใด ๆ เพราะ สนช. ทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. ให้ความเห็นชอบอยู่แล้ว และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ก็สามารถพิจารณาได้ รวมถึงประธานองค์กรอิสระ ที่ยังอาจอยู่รักษาการอยู่ด้วย ส่วนหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพในการจัดทำนั้น นายมีชัย กล่าวว่า องค์กรอิสระจะต้องหารือกัน หรือผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับหน้าที่ก็ได้ เพราะน่าจะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. ไม่เคยคัดค้านการนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ เพราะ หลักการไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่กำลังศึกษาว่า จะเขียนกฎหมายอย่างไรไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากเขียนกฎหมายออกมาไม่รอบคอบอาจเปิดปัญหา และอาจต้องทำข้อโต้แย้งไปยังประธาน สนช. เพื่อนำมาปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการร่วม แต่จะไม่สามารถยกเลิกระบบไพรมารีโหวตได้ เพราะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไปแล้ว
ส่วนกรณีที่ให้ กกต. มีอำนาจแจกใบเหลือง ใบแดง ในขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตนั้น นายมีชัย กล่าวว่า หาก กกต. ยืนยันว่า การทำไพรมารีโหวต เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ก็สามารถทำได้ หากเขียนกฎหมายออกมาให้ดี การจัดทำไพรมารีโหวต จะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ และจะต้องบัญญัติให้รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อเสียงกันในพรรค.-สำนักข่าวไทย