รร.แกรนด์ไฮแอทฯ 22 มิ.ย. – รองนายกรัฐมนตรีตอกย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุน ย้ำไม่ได้มอบรถไฟไทย-จีน ให้ต่างชาติ คาดส่งออกเติบโตได้เลข 2 หลัก หลังหลายปัจจัยฟื้นตัว เชิญนักลงทุนต่างชาติ ทั้งยุโรป สหรัฐ ขยายลงทุนในอีอีซี หลังจีน ญี่ปุ่น เกาหลี พร้อมเข้ามาลงทุน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษงานสัมมนาผู้ลงทุนในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand Big Strategic Move” เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ กองทุนต่างชาติ 20 กองทุนมาร่วมรับฟังนโนยบายจากรัฐบาล จึงต้องการย้ำว่าเมื่อเอเชียเริ่มส่องแสง Asia Rise แฝงมาในวิกฤติเศรษฐกิจโลก ไทยจึงเป็นหนึ่งในเอเชีย เป็นหัวใจแห่งเอเชีย และเมื่อจีนประกาศนโยบาย one belt one road ไทยจึงโดดเด่น เพราะอยู่บนเส้นทางเชื่อมระหว่าง one belt บนแผ่นดินใหญ่กับ maritime silk road ทางทะเล
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลมุ่งนำประเทศกลับคืนสู่ความสงบ การเมืองไปสู่การเลือกตั้งปีหน้าตามรัฐธรรมนูญและความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าปีนี้จีดีพีเติบโตร้อยละ 3.5 หรือสูงกว่าการส่งออกเติบโตเป็นเลข 2 หลัก เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและความเชื่อมั่นเริ่มดีขึ้น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกินร้อยละ 45 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กำไรสุทธิเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนเฉลี่ยร้อยละ 7 ไตรมาส 1 ของปีนี้มีกำไรสุทธิรวมสูงถึง 300,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 21 จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ขนาดตลาดรวมมีขนาดถึงร้อยละ 122 ของจีดีพี ท่ามกลางสถานการณ์โลกตึงเครียดทางการเมือง ไทยถือเป็นสวรรค์ของการลงทุน save heaven ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องอาจกระทบต่อการส่งออกนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอย่างใกล้ชิดและคงใช้เงินทุนสำรองแทรกแซงมากเกินไปคงไม่ได้ เพราะอาจทำให้ขาดทุนจำนวนมาก จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
นายสมคิด กล่าวย้ำต่อนักลงทุนว่าเมื่อไทยต้องการเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ จึงเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจ ทั้งการพึ่้งพา Export led growth สู่ balanced growth economy มาสู่การเติบโตอย่างสมดุล พึ่งพาปัจจัยภายนอก เช่น การส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และยังเน้นการสร้าง local economy ทั้งการผลิต การตลาด การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในชนบท การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการพร้อมงบประมาณกระจายสู่กลุ่มจังหวัดและสู่ท้องถิ่นโดยตรง ผ่านความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน “ประชารัฐ” เพื่อสร้างสมดุลโดยไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก
การพัฒนาจาก low cost สู่ value based economy การสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมด้วยวิทยาการ ด้วยการค้นคว้าวิจัย และการคิดสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิด cluster การผลิตระหว่างรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการสถาบันศึกษา และสถาบันวิจัย เพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งนวัตกรรม ผ่านมาตรการการจูงใจทางภาษีให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนใน R&D ขณะนี้งบลงทุนใน R&D ของประเทศให้มีสัดส่วนร้อยละ 1 เป็นอย่างน้อยใน 2 ปีข้างหน้า ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเป็นตัวนำการผลิต การพัฒนาแบบ jump start โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ หลังจากหยุดชะงักไปนานกว่า 20 ปี ทำให้ไทยอยู่ในระดับท้ายสุดในเอเชีย ไทยกลับมาประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ด้วยวงเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งการสร้างถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง
การสร้างและพัฒนาสนามบินท่าเรือและสถานีขนส่งสินค้า ครอบคลุมช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า ผ่านแหล่งเงินทุน 4 แหล่ง คือ งบประมาณ แหล่งเงินกู้ยืม การร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP fast track ผ่านการสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง คือ เส้นสีเขียว น้ำเงิน ส้ม เหลือง และชมพู และภายในปีนี้เริ่มเปิดประมูลอีก 3 เส้นทาง คือ ม่วงใต้ ส้มตะวันตก และสีแดง และในช่วง 2 เดือนข้างหน้าจะสรุปผลการประมูลรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง และมอเตอร์เวย์อีก 2 เส้น เพื่อเริ่มลงทุนภายในปีนี้
สำหรับเส้นทางรถไฟไทย-จีน คาดว่าจะเริ่มช่วงเดือนกันยายน โครงการ 180,000 ล้านบาท ส่วนดังกล่าว 140,000 ล้านบาท ไทยดำเนินการเอง และพัฒนารอบเส้นทางรถไฟฟ้า จึงไม่มีส่วนใดมอบให้กับจีนอย่างแน่นอน ที่ดินของไทยใครมาร่วมลงทุนได้ ไม่ใช่ยกให้กับจีน ตามหลักการของเจรจาแบบ G/G ในการกำหนดราคากลางต้องต่อรองระหว่างรัฐต่อรัฐ และแก้ไขเฉพาะจุด เพื่อต้องการขยายเส้นทางต่อไปยังหนองคาย และเชื่อมต่อไปยังมาเลเซีย
และก่อนสิ้นปีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางรถไฟฟ้า จังหวัดภูเก็ต ลงทุนแบบ PPP fast track เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม. ทุกโครงการเริ่มต้นก่อนปลายปีหน้า นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมการจำหน่ายหน่วยลงทุน Thailand future Fund ล็อตแรกไตรมาส 3-4 ปีนี้ จำหน่ายให้ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน เป็นทางเลือกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ให้เกินร้อยละ 50 เพื่อประหยัดงบประมาณและขับเคลื่อนภายใน 5 ปี
รัฐบาลยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต เช่น อาหารแห่งอนาคต อาศัยเกษตรเป็นพื้นฐาน ยานยนต์แห่งอนาคต และอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเป็นพื้นฐาน ศูนย์กลางสุขภาพ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ด้วยการจัดพื้นที่ 3 จังหวัดเบื้องต้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะในอีอีซีกว่า 400,000 ล้านบาท นอกจากนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น และตะวันตกมาลงทุนเพิ่มเติม
รัฐบาลเตรียมก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยจัดสรรงบประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อติดตั้ง Internet broadband กว่า 24,000 หมู่บ้านในปีนี้ และอีก 20,000 หมู่บ้านในปีหน้า เพื่อส่งเสริมชนบท พัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซจากชนบทสู่โลก การลงทุนวางระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ กว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ไทยยกระดับการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ International gateway ของภูมิภาคในอนาคต วางระบบได้ในสิ้นปีหน้า ขณะนี้ญี่ปุ่นลงนามหลายฉบับระหว่างไทยกับเมติ เพื่อร่วมพัฒนาในอีอีซี เพื่อส่งผ่านกระบวนการผลิตไปสู่ดิจิทัล เพื่อเชื่อมต่อทั้งหมดผ่าน Big Data เพื่อประกาศสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทย หากนักลงทุนยังล่าช้าจะตกขบวนได้คนไม่เปลี่ยนแปลงจะสูญพันธ์
นอกจากนี้ ยังเน้นการเชื่อมโยงกับกลุ่ม CLMV เพราะการร่วมมือกับเพื่อนบ้านเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งกลุ่มอนุภูมิภาคเติบโตจะทำให้ไทยได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งการสร้างพลังร่วมของการท่องเที่ยว การจัดทำพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกัน ไปสู่อนุภูมิภาคอื่นและการเชื่อมโยงไทยเข้ากับ one belt one road ของจีน ด้วยการการเชื่อมอีอีซีผ่านเส้นทางรถไฟเข้ากับเส้นทางรถไฟไทยจีน เชื่อมจากจีนสู่เวียงจันทร์ผ่านไทยไปยังช่องแคบมะละกาของมาเลเซีย เพื่อเชื่อมโยง one belt และ maritime silkroad ตลอดจนการร่วมผลักดันเขตการค้าเสรีใหม่ ทั้งกลุ่ม RCEP ซึ่งไทยมีข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับกลุ่มประเทศเหล่านี้ ขณะที่กลุ่มประเทศ TPP ญี่ปุ่นขอเป็นแกนนำแทนสหรัฐ. – สำนักข่าวไทย