เชียงใหม่ 17 มิ.ย. – การทำเกษตรยุคใหม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน หาวิธีการใหม่ๆ ทั้งการผลิต สร้างคุณภาพ และราคา อย่างชาวสวนลำไยที่ จ.เชียงใหม่ ที่หันมาทำสวนลำไยแบบพุ่มเตี้ย พร้อมเกษตรแบบผสมผสาน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างกำไรได้ปีละหลายแสนบาท ทุกวันนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวสวนในภาคเหนือไปไม่ต่ำกว่า 5,000 คนแล้ว
สวนลำไยกว่า 10 ไร่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ สวนที่เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทของ “นิเวศน์ โอดบาง” ชาวสวนวัย 55 ปี ที่ปรับเปลี่ยนเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ในการสร้างสวนลำไยคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ
จากที่เคยปลูกลำไยเหมือนชาวสวนทั่วไป เปลี่ยนมาใช้เทคนิคการแต่งกิ่งทำลำไยพุ่มเตี้ยมา 10 ปี ทำให้ปลูกลำไยได้มากขึ้น จากที่เคยปลูกได้ไร่ละ 25 ต้น แต่หากเป็นลำไยพุ่มเตี้ยจะปลูกได้ถึง 80 ต้น ผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น ลดปัญหาโรคและแมลง เพราะแสงแดดส่องถึง เก็บลำไยได้ง่าย ประหยัดต้นทุนการจัดการลงมาครึ่งหนึ่ง ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่าฮอร์โมน ทำให้ผลกำไรมากขึ้น
นิเวศน์ ยังวางระบบการให้น้ำต้นลำไย ช่วยประหยัดทั้งแรงและเวลา ทำปุ๋ยหมักใช้เอง และพัฒนาคุณภาพลำไยจากที่เคยรอลำไยออกปีละ 1 ครั้ง ปรับเปลี่ยนให้ลำไยในสวนออกผลผลิตหมุนเวียนปีละ 4 รุ่น มีลำไยขายได้ตลอดทั้งปี ขายลำไยได้ปีละหลายแสนบาท
นิเวศน์ยังปรับสวนลำไยให้เป็นสวนเกษตรผสมผสาน แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวไว้กินเอง ปลูกพืชผักไว้โคนต้นลำไย เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ไว้เป็นอาหารและรายได้เสริม จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของภาคเหนือ มีชาวสวนมาเรียนรู้ไปไม่ต่ำกว่า 5,000 คนแล้ว
เพราะความเปลี่ยนแปลงบนโลกนี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม อากาศ เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งกระทบกับการเกษตรโดยตรง เกษตรกรจึงต้องปรับตัว โดยอาศัยเรียนรู้จากคนที่สำเร็จมาแล้วตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีทุกอำเภอทั่วประเทศ จะช่วยให้ปรับตัวได้ง่ายและเร็วขึ้น. – สำนักข่าวไทย