จุฬาฯ7 มิ.ย.- ในเวทีจุฬาเสวนาฯ ครั้งที่ 6 เรื่อง ‘ฆ่า หรือ ค่า สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย’ นักวิชาการชี้เหตุการณ์ ‘เปรี้ยว’ ฆ่าหั่นศพ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการนำเสนอที่สื่อหลักเป็นผู้ตามกระแสสื่อออนไลน์ ขณะเดียวกันเกิดความน่าเชื่อถือเพจสายดาร์กมากเป็นปรากฏการณ์ สื่อหลักไม่ได้ป้องปรามหรือคิดถึงผลกระทบพอควร ห่วงเด็ก 7-8 ปี มีพฤติกรรมเลียนแบบ
รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา กล่าวว่า ปรากฏการณ์การฆ่าคน เป็นปรากฏการณ์ที่สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย กลายเป็นพลังการในนำเสนอ ขณะที่สื่อหลักกลับกลายเป็นสื่อรอง และพยายามนำเสนอที่แตกต่างให้น่าสนใจกว่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว ที่น่าห่วงคือเยาวชนที่มีอายุ7-8 ปี ที่ยังไม่มีหลักหรือต้นแบบ และคนที่มีภาวะสุ่มเสี่ยง ประมาณร้อยละ 2.5 มีเปอร์เซ็นต์ที่จะทำตามกรณีฆ่าหั่นศพ เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏในเบื้องลึกของความทรงจำของเด็ก ชินกับความก้าวร้าวรุนแรง ใครๆ ก็ทำได้และใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เกิดความก้าวร้าวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และบางคนก็มีความกลัวหวาดระแวงในสังคม
ด้าน ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยให้ความสนใจกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี จากผลการสำรวจกระแสความนิยมข่าวของ ‘โปรเมย์’ นักกอล์ฟ กับ ‘เปรี้ยว’ ฆ่าหั่นศพ จะพบว่าแตกต่าง ข่าวโปรเมย์มีคนสนใจแค่ร้อยละ 5 ขณะที่ข่าวของเปรี้ยวได้รับความสนใจถึงร้อยละ 80 และจากกรณีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ ทำให้เกิดกระแสเพจนักสืบออนไลน์ เพจดาร์ก ที่กลายเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ สืบค้นข้อมูลรวดเร็วมากกว่าสื่อหลัก
ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์เปรี้ยว ควรตั้งคำถามกับสื่อมวลชนมากกว่าให้ผู้รับสารตั้งสติและป้องกันตนเอง เนื่องจากข่าวนี้มีความครบเครื่องในเรื่องราว ทั้งความสวยงามของรูปร่าง ความรุนแรง มีแต่คนตั้งข้อสังเกตว่าเปรี้ยวจะมีรูปร่างหน้าสวยจริงหรือเปล่า หรือใช้แอพลิเคชั่น แต่งรูปก่อนที่จะมีการมอบตัว ทุกคนมุ่งแต่เรื่องภายนอก และมองเรื่องของการศัลยกรรมเป็นเรื่องปกติ
และสิ่งที่แปลกมากในเรื่องนี้ คือ การไม่แสดงหรือติดตาม ผู้ที่สูญเสีย หรือเหยื่อ แต่กลับติดตามครอบครัวของผู้ต้องหา ที่น่ากลัวมาคือความคิดของคนที่ว่าสวยและร้ายและจะดัง วิกฤตการณ์นี้ควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนวิชาชีพ กับสื่อมวลชนที่ตามเรื่องราว สื่อหลักควรแสดงให้เห็นความต่างว่าจะป้องปรามและเตือนสังคมอย่างไรไม่ให้มีคนเช่นเปรี้ยวแบบนี้อีก
ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเปรี้ยว หั่นศพ หรือแอ๋ม เหยื่อนั้น ต้องนำเสนออย่างมีศักดิ์ศรี เสมอกันทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย การพิจารณาด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติจากความรักความชัง และความกลัว การนำเสนอของสื่อทำให้เกิดความไม่เป็นกลางหรืออคติขึ้น ทำให้มักนิยมนำเสนอแบบดราม่าเล็ก ๆ เล่าเรื่องราว และเป็นไทม์ไลน์ ซึ่งจะเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าไม่รู้ เป็นเรื่องที่เกิดจากนักข่าววิเคราะห์ ตามหลักการแล้วการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ควรผ่านการตัดสินของศาล หรือผ่านกระบวนการจับกุมไปแล้ว เพราะบางครั้งความจริงที่นำเสนออาจไม่ใช่ เพราะเป็นความจริงที่สังคมคิดหรืออยากให้เป็น
ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการเจ็บป่วยหรือป่วยทางจิต แต่เป็นฆาตกรรมอำพรางคดี การสันนิษฐานทุกความรุนแรงว่าผู้กระทำต้องอาจเป็นโรคทางจิตเภท มันก็ไม่เป็นธรรมนัก การรับรู้ว่าผู้กระทำผิดเจ็บป่วยแล้วได้อะไร สังคมจะทำอะไรต่อ เรื่องนี้จะมีผลอย่างไร แทบไม่มีเหตุผลเลย.-สำนักข่าวไทย