กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – “มานะ นิมิตรมงคล” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในเพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน “สังคมไทยได้เห็นอะไร หลังตึก สตง.ถล่ม” เรียกร้องนายกฯ กำหนดกรอบ ทิศทางการสืบสวนสอบสวนที่ชัดเจน สู่การดำเนินคดี
นายมานะ ระบุว่า แม้ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหาที่ล้วนเป็นเอกชนมากถึง 17 ราย แต่สิ่งที่สังคมยังคงกังวลคือ กระบวนการสอบสวนทำคดีที่อาจไม่รัดกุมเพียงพอ จนทำให้ผู้ต้องหาบางรายหรือแม้แต่ทั้งหมด หลุดพ้นความผิดเหมือนที่เคยขึ้นซ้ำๆ ในอดีต โดยสาเหตุที่ตึก สตง.ถล่มเป็นไปได้ 2 กรณี คือ “คอร์รัปชันหรือความชุ่ย” ของคน แต่เรื่องน่าผิดหวังคือ การที่รัฐบาลลอยตัวจากความรับผิดชอบในการดูแลคดีนี้
เหตุน่าเศร้าครั้งนี้ยังทำให้สังคมไทยตาสว่างมากขึ้นอีกหลายประการ กล่าวคือ คอร์รัปชันในงานก่อสร้างภาครัฐและวิกฤตในวงการก่อสร้างไทย เกิดข่าวลือและข้อวิตกกังวลของประชาชนว่า ที่ตึกถล่ม เป็นเพราะความบกพร่องของ วิศวกรและสถาปนิกที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การคำนวณทางวิศวกรรมโครงสร้าง การควบคุมการก่อสร้าง การแก้ไขแบบ มีใครละเลยมาตรฐานวิชาชีพ ทำงานบกพร่อง ใช้เหล็กปลอม ลดสเปคปูนซีเมนต์ หรือสมรู้ร่วมคิดกันคอร์รัปชันจนเกิดตึกถล่ม มีผู้เสียชีวิตมากมาย
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยว่า โครงการนี้ใช้กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ในการประมูลงาน เพื่อเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติเข้ามารับงานขนาดใหญ่ของราชการ แต่เบื้องหลังได้ร่วมทุน แชร์เทคโนโลยีและศักยภาพกันจริง หรือเป็นเพียงกลเลี่ยงกฎหมาย เอกชนไทยกลายเป็นนอมินีที่นั่งกินค่าคอมมิชชั่นเท่านั้น
ในขณะที่มีข่าวฉาว เมื่อวิศวกรผู้ออกแบบ สถาปนิก ผู้ควบคุมการก่อสร้างมากถึง 29 นาย อ้างว่าตนถูกปลอมลายเซ็นต์ สร้างความวิตกกังวลต่อความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้าง ความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนและทรัพย์สิน ทำลายเสียชื่อเสียงประเทศชาติ นับเป็นวิกฤตที่ท้าทายจริยธรรม ความรับผิดชอบของวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิกไทยอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ คนไทยได้เห็นแจ้งว่าหน่วยงานรัฐกำลังแข่งกันใช้เงินภาษีอย่างฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งปลูกสร้าง อาคารสถานที่และเฟอร์นิเจอร์ที่ราคาสูง สร้างใหญ่โต หรูหรา จนถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและเสพสุขจากทรัพยากรของรัฐ ใช้เงินภาษีเกินความเหมาะสม ใช่หรือไม่ และมีคำถามถึงขอบเขตความรับผิดชอบต่อภาพรวมของประเทศในการที่ สตง. และองค์กรอิสระฯ มีอภิสิทธิ์ในการบริหารงบประมาณของตนเอง ขณะที่งานก่อสร้างของหน่วยงานรัฐก็ไม่มีใครมาตรวจสอบการออกแบบและความถูกต้อง
ส่วนเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน แม้จะมีการพูดถึงอย่างยาวนาน หลังเกิดสึนามิเป็นต้นมา จนเมื่อแผ่นดินไหวเรื่องจึงแดงขึ้นว่า ระบบเตือนภัยใช้การไม่ได้แม้ลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้านบาท
นายมานะ ระบุบทสรุปกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีในการรับมือวิกฤตนั้น น่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรีพลาดโอกาสแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต เนื่องจาก “ไม่ประกาศความรับผิดชอบต่อทุกข์สุขประชาชน ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นประชาชน ด้วยการแสดงถึงความมุ่งมั่น (Political Will) ในนามรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร ทิศทางการสืบสวนสอบสวน กำหนดบุคคลและหน่วยงานรับผิดชอบ กรอบเวลาที่ชัดเจน ลำดับความเร่งด่วนแต่ละประเด็นก่อนนำไปสู่การดำเนินคดี และบอกกับประชาชนว่าควรทำตัวอย่างไร ควรให้ความร่วมมืออย่างไร”
สังคมกังวลต่อไปว่าคนผิดจะลอยนวลและ “ประเทศจะคงอยู่ในวังวนแห่งการปล่อยผ่านความผิดพลาดที่นำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงต่อไปเช่นนี้”. -511-สำนักข่าวไทย