กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – เปิดแผน ก.พลังงานวางไพ่รับวิกฤติก๊าซฯ 2564-2566 ลดใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทน “ไฮบริด-เฟิร์ม” เจรจาซื้อไฟฟ้าเพื่อนบ้าน จีนเสนอขาย 1,000 เมกะวัตต์ ซื้อก๊าซฯ มาเลเซีย/เจดีเอ หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนอาจต้องผุดแอลเอ็นจี “FSRU-มาบตาพุด” เลวร้ายสุดผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล
ทีมข่าวเศรษฐกิจ “สำนักข่าวไทย อสมท” มีโอกาส พูดคุยกับ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน หลังคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 รับทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติ ปี 2564 – 2566 ที่คาดว่าก๊าซฯ จะลดลงส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 13,623 ล้านหน่วย หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 1,700 เมกะวัตต์
เหตุผลอะไรทำให้เกิดปัญหาวิกฤติก๊าซฯ 64-66
ทวารัฐ : 2 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการไม่เป็นตามแผนด้านพลังงาน มีความไม่แน่นอนสูง ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้สร้างช้ากว่ากำหนดในแผน, สัมปทานก๊าซฯ แหล่งเอราวัณ-บงกช หมดอายุปี 2565-2566 และกระบวนเปิดหาผู้ผลิตในแหล่งใหม่ปิโตรเลียมใหม่ ๆ ไม่สามารถทำได้ ทำให้ประมาณการณ์เบื้องต้นว่าไทยจะรับก๊าซฯ ต่ำกว่าที่กำหนดในแผน โดยปัจจุบันไทยรับก๊าซฯ จาก3 แหล่ง ได้แก่ อ่าวไทยแหล่งใหญ่ “เอราวัณ-บงกช” หมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 มีการถกเถียงเรื่องการจัดการที่ล่าช้า ส่งผลการผลิตไม่ต่อเนื่องช้ากว่ากำหนด ส่วนการเปิดสัมปทานหรือจัดการแหล่งใหม่ตามรอบ 21 ก็ เปิดไม่ได้มีการแก้ไขกฏหมายล่าช้า
ขณะที่การรับก๊าซฯ จากแหล่งเมียนมาร์ก็มีปัญหาด้านเทคนิคแหล่งก๊าซเยตากุนลดต่ำกว่าแผน ดังนั้น การพึ่งพาก็ต้องไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าปี 2564-2566 ก๊าซฯ จะหายไปต่ำกว่าคาดการณ์ในแผน 350-450 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน เทียบเท่าแอลเอ็นจี 2 ล้านตัน/ปี
ในปี 2564-2566 เรามีสมมุติฐานว่าก๊าซฯ อ่าวไทย 2 แหล่งที่หมดอายุสัมปทานจะมีการผลิตต่ำกว่าคาดการณ์ในแผน โดยตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 2558-2579 (พีดีพี 2015 ) ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้และต้องการลดการพึ่งพาก๊าซฯ จึงวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่โครงการก็ถูกต่อต้าน ทำให้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด…
แผนสำรองแก้ไขปัญหาก๊าซฯ ขาด
ทวารัฐ : ดังนั้น จึงต้องมีแผนสำรอง แผนสำรองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยแผนที่รายงานต่อ กพช.วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เป็นแผนที่ยังไม่ตกผลึก แต่เป็นตระกร้า หรือกรอบที่วางไว้ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องศึกษาและเจรจาให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการแผนใดได้บ้าง แผนแบ่งออกเป็น
1. แผนลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) เช่น ส่งเสริมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าช่วงพีคกลางวันและการใช้มาตรการ Demand Response (DR) เพื่อประหยัดไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดเป็นการเฉพาะ ซึ่งตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่าอาจมีไฟฟ้า Solar Rooftop เข้าระบบ 1,000 เมกะวัตต์
2 ด้านการจัดหาเชื้อเพลิง/พลังงานไฟฟ้า (Supply Side)
-จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (JDA) ซึ่งในส่วนนี้ดูไว้ 2 แนวทาง คือ ใช้ก๊าซในส่วนของมาเลเซีย หรือซื้อก๊าซฯ จากพื้นที่อื่นของมาเลเซีย โดยจะต้องมีการเจรจาในส่วนนี้จะนำมาใช้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 3 จังหวัดสงขลากำลังผลิต 700-1,000 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซฯ 100-120ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งกรณีนี้จะช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ที่มีความต้องการเพิ่ม แต่ไฟฟ้าไม่เพียงพอและโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องวิเคราะห์ถึงราคาก๊าซฯ ด้วยว่าจะมีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างไร
– การเพิ่มความสามารถในการเก็บสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เช่น การขยายโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 1 มาบตาพุด จ.ระยอง และเร่งรัดการพัฒนาโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น ในส่วนนี้ดูทั้งระบบ เพราะในส่วนของสถานีแห่งที่ 1 มาบตาพุดนั้น ปตท.ได้รับอนุมัติผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วให้ก่อสร้างได้ 15 ล้านตัน/ปี ขณะที่ ปตท.ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างแล้ว 11.5 ล้าน ก็ต้องพิจารณาว่าเร่งได้หรือไม่อย่างไร
-การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว หรือกัมพูชา) ซึ่งในส่วนการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ขณะนี้โครงการน้ำเทิน 1 แจ้งว่าจะเสร็จเร็วกว่าแผน 1 ปี หรือเสร็จปี 2564 จากตามสัญญาจะเข้าระบบปี 2565 ส่วนจีนก็เสนอขายไฟฟ้าให้ไทย 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่ง สปป.ลาวและมาเลเซียก็พร้อมขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินให้ไทย ส่วนโครงการของกัมพูชา ก็มีโครงการถ่านหินเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงเสนอมา 2 ผู้ผลิตกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ และ2,400 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถก่อสร้างได้ทันกับความต้องการของเรา คือ ปี 2564 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไทยพร้อมเจรจา ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องค่าไฟฟ้า และสายส่งไฟฟ้าว่าจะเข้าเส้นทางใด เช่น สุรินทร์ เป็นต้น ส่วนเมียนมาร์ก็มีการพูดคุยหลายโครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด โรงไฟฟ้าพลังน้ำ มายตง แต่ก็ยอมรับว่าไม่มีความชัดเจน
“เราเปิดหน้าไพ่ก็เจรจาทั้งหมด สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลซีย และจีนก็พร้อม โดยจีนจะมาจากระบบ GRID ของเค้าซึ่งเชื้อเพลิงก็คือหลากหลายของจีน ทั้งถ่านหิน นิวเคลียร์ อื่น ๆ ส่วนมาเลเซีย ก็เป็นการพุดคุย เค้าอยากพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาขายให้เรา หากไทยต้องการ”
-การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกตามนโยบาย SPP Hybrid-Firm และ VSPP-Semi Firm เพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยประเด็นนี้จะต้องหากพิสูจน์ว่าไฮบริดเฟริม์จ่ายไฟได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งปีนี้จะทดลองเปิด 300 เมกะวัตต์ก่อน หากทำได้ก็พร้อมวางแผนระบบพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นส่วนแก้ไขปัญหาในปี 2564-2566 ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนด้วย
-เจรจาตกลงราคาและปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติโครงการบงกชเหนือ โดยมีการรับประกันอัตราขั้นต่ำการผลิตในช่วงปี 2562 – 2564 เพื่อให้มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติก่อนสิ้นอายุสัมปทานปี 2565 เพิ่มขึ้น
ทางเลือกฉุกเฉิน FSRU มาบตาพุด-ผลิตไฟฟ้าจากดีเซล
ทวารัฐ : แผนต่าง ๆ ที่ทำเป็นตระกร้าไว้ก็เพื่อให้มีก๊าซเพียงพอ แต่หากพบว่าแผนสร้างไม่ได้ และหากขาดแคลนจริง ๆ ก็ต้องมีแนวทางออกรองรับปัญหาฉุกเฉิน เช่น เช่า FSRU เข้าต่อท่อก๊าซฯ ที่มาบตาพุด โดยทางเทคนิค ทำได้ แต่ก็ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือ ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ ) เรื่องร่องน้ำหรือการต่อท่อในทะเล ซึ่งกรณีหากไม่ทันการ ก็ต้องหารือรัฐบาลและ คสช.ว่าหากกฎหมายปกติทำไม่ได้ ก็มีโอกาสใช้กฎหมายพิเศษ หรือ ม.44 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากจัดหาก๊าซฯ ไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าขาดแคลน ก็สามารถใช้น้ำมันดีเซลปั่นไฟฟ้าแทนก๊าซฯ ได้ แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนแพงถึง 3-5 เท่าตัว และกระทบค่าไฟฟ้าประชาชน ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น
ประชาชนร่วมมืออะไรได้บ้าง เพื่อผ่านพ้นวิกฤติก๊าซฯ
ทวารัฐ : ความร่วมมือของภาคประชาชนนอกจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาผลิตไฟฟ้าใช้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ต้องขอความเห็นใจภาคประชาชน เพราะโครงการขนาดใหญ่มักได้รับการต่อต้าน ทำให้การดำเนินการช้ากว่าคาดการณ์ไว้ เรื่องบางเรื่องต่อต้าน 2-3 ปีก่อนหน้านี้ แต่จะมีผลอีก 5-7 ปีหลัง เช่น ผลของวิกฤติก๊าซฯ ครั้งนี้อาจเกิดขึ้นอีก 4 ปีข้างหน้า จึงเป็นวิกฤกติ จึงอยากเรียนวิงวอน ประชาชนเรื่องพลังงานต้องร่วมมองยาว ประท้วงทำได้ แต่ก็ต้องดูเหตุและผล โครงการที่ล่าช้าทำให้วางแผนค่อนข้างยาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีทรัพยาพลังงานมาใช้ได้เมื่อไหร่อย่างไร พลังงานเป็นเรื่องทุกคน ก็ขอความเห็นใจศึกษาแสนอแนะหาทางที่เป็นไปได้ ก็จะทำให้โครงการพัฒนาได้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ
—–ทีมข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวไทย อสมท—