ศธ.31 พ.ค.-ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา 25 คน มี ‘นพ.จรัส สุวรรณเวลา’ ประธาน โดยนายกฯ เน้นย้ำหาแผนพัฒนาเด็กและครู ใน 5 ด้าน ดูแลเด็กเล็ก พัฒนาระบบผลิตครู ปรับปรุงหลักสูตร ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯและตั้งกองทุนการศึกษา
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะโฆษกกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงภายหลังการประชุมองค์กรหลัก ศธ. ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จำนวน 25 ราย โดยมี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ 24 ราย ประกอบด้วย นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา นายไกรยส ภัทราวาท นายจิรุฒน์ ศรีรัตนบัลก์ นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นายชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ นางดารณี อุทัยรัตนกิจ นายตวง อันทะไชย นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นางทิศนา แขมมณี นางนิรชา เรืองดารกานนท์ นายนภดล ร่มโพธิ์ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นางเพชรชุดา เกษประยูร นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นางภัทรียา สุมะโน นางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ นางเรียม สิงห์ทร นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายศิริเดช สุชีวะ นายศุภชัย เจียรวนนท์ และนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล
นายกมล กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาฯได้ให้สภาการศึกษาเป็นฝ่ายประสานงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายแนวทางการทำงานให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ดังนี้ 1.แนวทางการปฏิรูปการศึกษา การเสนอข้อคิดเห็นหรือทิศทางการทำงาน จะต้องหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาข้อยุติก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณา
2.คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเร่งดำเนินการศึกษาและเสนอแนะต่อ ครม.เพื่อกำหนดนโยบายใน 5 เรื่องใหญ่ คือ ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจและสติปัญญาให้สมกับวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย , ระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม, ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนๆ ได้ตามความถนัด , ปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่และร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพครู ซึ่งเฉพาะเรื่องกองทุนต้องทำเป็นกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่วนเรื่องอื่นๆต้องส่งแนวทางการปฏิรูปภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามีวาระ 2 ปีเว้นแต่ ครม.จะมีมติเปลี่ยนแปลง
และ 3. จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานให้แก่ครม.เป็นระยะเพื่อติดตามผล ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจะมีการหารือเร็วๆนี้.-สำนักข่าวไทย