กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยเศรษฐกิจครึ่งแรกปี 60 มีแนวโน้มดีขึ้น ชี้การใช้จ่ายภาครัฐและปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจกระตุ้นให้ดัชนีค้าปลีกไตรมาสแรกโตร้อยละ 3.02
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยถึงดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมของไตรมาสแรกปี 2560 ว่า เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 3.02 สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยครึ่งปีแรกมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร คาดการณ์ว่าหากเครื่องยนต์การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกอาจต่ำกว่าร้อยละ 3 หรือในทางกลับกันหากการใช้จ่ายภาครัฐมีประสิทธิภาพดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกน่ามีโอกาสจะเติบโตถึงร้อยละ 3.2
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรกดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้หมวดสินค้าต่าง ๆ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทนยังมีความไม่แน่นอน สอดคล้องกับข้อมูล Retail Landscape by The Nielson แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในหมวด FMCG ยังคงติดลบเล็กน้อยไตรมาส 1/2560 ส่วนหมวดสินค้าคงทนและสินค้ากึ่งคงทนยังคงทรงตัวและยังไม่เห็นสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าไตรมาสแรกปี 2560 หมวดสินค้าคงทน เติบโตอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1.25 เห็นได้ชัดจากผลประกอบการของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยไตรมาส 1/2560 ติดลบ หมวดสินค้ากึ่งคงทน เติบโตในอัตราที่ถดถอยเพียงร้อยละ 2.3 และหมวดสินค้าไม่คงทน เติบโตชัดเจนถึงร้อยละ 3.4 แม้จะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวช้า แต่ยังคงการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.9 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ราคาพืชผลการเกษตรเพิ่มขึ้น ดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ตลาดรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 15.4 และตลาดรถจักรยานยนตร์ขยายตัวร้อยละ 5 ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ขณะนี้กำลังเข้าสู่รอบไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณการใช้จ่ายอาจแผ่วลง โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม การลงทุนภาคอกชนยังไม่ฟื้นตัวและพึ่งพาแต่การลงทุนภาครัฐ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เติบโตลดลงทั้งยอดขายและกำไร หนี้ครัวเรือนที่ยังส่งสัญญาณจะทรงตัวระดับร้อยละ 80.2 มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าหมวดคงทนและหมวดสินค้ากึ่งคงทนอาจต้องชะลอออกไป.-สำนักข่าวไทย