กรุงเทพฯ 4 พ.ย. – รฟท.เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย เชื่อมการเดินทาง ขนส่งสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย คาดเริ่มเปิดประมูลปลายปี 60 และให้บริการเดินรถปี 63 รองรับการเดินทางมากกว่าปีละ 2 ล้านคน ขนส่งสินค้ามากกว่าปีละ 2 ล้านตัน
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.เร่งผลักดันการลงทุนการขนส่งทางราง เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดได้เร่งรัดแผนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงิน 76,980 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะ 2 จังหวัดเชียงราย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลหาผู้รับเหมาได้ปี 2560 และเปิดให้บริการเดินรถภายในปี 2563
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย ปัจจุบันผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะมีการนำเสนอเข้าการพิจาณาของคณะกรรมการ รฟท. เพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน รฟท.จะหารือกับฝ่ายวิศวกร เพื่อแบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 3 ช่วง โดยจะสร้างไปพร้อมกันแทนการสร้างเป็นทางยาวรวดเดียว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น
นายวุฒิชาติ กล่าวว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทาง การค้า การลงทุนทางภาคเหนือของไทย ประกอบด้วย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย และยังมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว รวมทั้งเชื่อมต่อไปถึงมณฑลยูนนาน ประเทศจีน อีกด้วย ซึ่งประเมินว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย จะช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยประเมินว่าภายในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี และมีปริมาณขนส่งสินค้าได้สูงกว่า 2 ล้านตันต่อปี
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย มีระยะทาง 323 กิโลเมตร 26 สถานี ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ ของ 3 จังหวัดแพร่-พะเยา-เชียงราย มีอุโมงค์ 3 แห่ง อุโมงค์แรก อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ยาว 6.4 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศ, อุโมงค์ที่ 2 อำเภอเมืองพะเยา 2.8 กิโลเมตร และอุโมงค์สุดท้าย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย 3.6 กิโลเมตร ตลอดระยะทางมีระบบป้องกันอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เช่น สะพานข้าม ทางยกระดับ มีมูลค่าโครงการลงทุนรวมประมาณ 76,980 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างทางวิศวกรรม (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) 73,172 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 7,292 แปลง พื้นที่ 9,661 ไร่ มูลค่า 3,808 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย