กรุงเทพฯ 3 พ.ค. – รมว.อุตสาหกรรมประชุมคณะกรรมการประชารัฐ D2 กลุ่มเอสเอ็มอี 5 พ.ค.นี้ จัดชุดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีลงลึกถึงไมโครเอสเอ็มอี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังงานวันคล้ายสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม ครบรอบ 75 ปี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมี 3 ภารกิจสำคัญที่จะผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ 1.การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) 2.การสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเอสเอ็มอี และ 3.การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีความก้าวหน้าให้เห็นตลอดปี 2560
สำหรับการส่งเสริมเอสเอ็มอีมีหลายหน่วยงานทำงาน ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมีแผนดำเนินงานภายใต้งบประมาณ 485 ล้านบาท คาดว่าจะสนับสนุนเอสเอ็มอี 7,000 ราย แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1.สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม 2.การส่งเสริมเอสเอ็มอีทั่วไป จะพัฒนาให้มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้นและให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายที่ประสบปัญหาธุรกิจ และ 3.เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจะทำให้มีความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น
นอกจากนี้ วันที่ 8 พฤษภาคม จะมีการสัมมนาความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย – ฮ่องกง – เซี่ยงไฮ้ ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “Thailand – Hong Kong – Shanghai Strategic Partnership on One Belt One Road” ณ โรงแรม พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ โดย Mr. Vincent Lo ประธานองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) พร้อมคณะนักธุรกิจประมาณ 50 คนจะมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2560 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ร่วมกันดูแลต้อนรับ ภายในงานจะมีการปาฐกถาโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับ HKTDC การบรรยายในประเด็น 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อีอีซี โครงการสานพลังประชารัฐ (PPP: Public Private Partnership) นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และมีกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการฮ่องกง และในช่วงเย็นคณะนักธุรกิจฮ่องกงจะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีด้วย
นายอุตตม กล่าวว่า วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคมนี้ จะเรียกประชุมคณะกรรมการประชารัฐ D2 กลุ่มเอสเอ็มอี ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ MAI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นต้น เพื่อวางมาตรการขับเคลื่อนชุดมาตรการใหม่ช่วยในการปรับตัวเอสเอ็มอีตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยยึดโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังจะจัดทำแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการลงลึกถึงผู้ประกอบการรายย่อยหรือไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งหมายถึงเอสเอ็มอีที่มีแรงงานน้อยกว่า 5 ราย คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มต้นปฎิบัติการช่วยเหลือช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ มาตรการช่วยเหลือจะเป็นทั้งตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน โดยจะมุ่งเน้น 8 จังหวัดก่อน ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี นครปฐม อุดรธานี อุบลราชธานี สงขลา และกระบี่ สำหรับงบประมาณจะพิจารณาต่อไปคาดว่าวงเงินจะไม่มาก
ส่วนเอสเอ็มอีทั่วไปที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะมีชุดมาตรการช่วยเหลือที่เป็นการช่วยเหลือทางการเงินรวม 37,000 ล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ 20,000 ล้านบาท สินเชื่อ Transfromation Loan ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีเอสเอ็มอีรวมประมาณ 2.7 ล้านราย ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 600,000 ราย.-สำนักข่าวไทย