ก.ยุติธรรม 2 พ.ค.- รองปลัดยุติธรรม แนะ 2 แนวทาง ช่วยเหลือคดีตายายเก็บเห็ด หลังศาลสั่งจำคุก 5 ปี คือขอรื้อฟื้นคดี และขอพระราชทานอภัยโทษ
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) กล่าวถึง กรณีคดีตายายเก็บเห็ด ที่ถือว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตายายต้องรับโทษอาญาตามคำพิพากษา 5 ปี แต่เคยได้รับโทษจำมาก่อนแล้ว 1 ปี 8 เดือน จึงเหลือโทษที่ต้องรับตามคำพิพากษาอีก 3 ปี 4 เดือน สำหรับทางออกในเรื่องนี้มี 2 ทาง คือ การขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 และการขอพระราชทานอภัยโทษ
กรณีจะรื้อฟื้นคดีกลับมาพิจารณาคดีใหม่นั่น ต้องพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงปรากฎตาม มาตรา 5 ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ โดยจะต้องมีองค์ประกอบที่เข้าข่าย ดังนี้ 1.พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น พบภายหลังว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง 2.พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคล ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุด พบภายหลังว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ 3.มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้ง และสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
ในกรณีคดีตายายหากพบมีหลักฐาน หรือพยานใหม่ ที่จะนำมาต่อสู้ ทนายความจะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้น โดยศาลที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาและทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี พิจารณาเพื่อพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด ซึ่งเมื่อศาลรับคำร้องกองทุนยุติธรรม ได้อนุมัติลอยเงินเพื่อใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณารื้อฟื้นคดีดังกล่าว รายละ 1 ล้านบาทไว้แล้ว
ส่วนการพระราชทานอภัยโทษ ต้องดำเนินการตามมาตรา 259 พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติว่า ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษจะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมายไม่ติดเงื่อนเวลา ไม่เหมือนอภัยโทษกรณีวาระสำคัญ.-สำนักข่าวไทย