ตาก 2 พ.ค.-อ.แม่สอด จ.ตาก ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เน้นส่งเสริมการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จูงใจให้นายทุนเข้ามาลงทุน แต่ในพื้นที่กลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นเพราะอะไร ติดตามจากรายงาน
ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนดเกือบเท่าตัว และไม่มีสวัสดิการ ถูกใช้งานเยี่ยงทาส คือปัญหาที่ลัวเวย แรงงานเมียนมาร์ บอกกับทีมข่าวสำนักข่าวไทย แม้รัฐปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในแม่สอดเป็น 310 บาท/วัน แต่แรงงานกลับได้ค่าแรงเพียง 150-200 บาท/วัน ต้องวันละ 12- 14 ชั่วโมง ได้ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 25 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าแรง 300 บาท/วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 58 บาท แม่สอดจึงเป็นทางผ่านที่ข้ามมาทำงานระยะสั้น พอชำนาญ ก็อพยพเข้าเมือง
การทะลักออกนอกพื้นที่ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมในแม่สอดกว่า 360 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขาดแคลนแรงงานกว่าร้อยละ 40 หรือราว 30,000 คน แม้รัฐแก้ปัญหา โดยนำมาตรา 14 พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551 มาบังคับใช้ เพื่อให้แรงงานเมียนมาร์ มาทำงานแบบเช้าไป- เย็นกลับ หรือตามฤดูกาล ได้เฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ไม่เป็นผล เพราะมีเพียงแรงงานจากเมียวดี ขณะที่แรงงานเดิมกว่าร้อยละ 95 มาจากย่างกุ้ง ผาอัน และเมาะลำใย เริ่มใช้ ม.14 ตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีแรงงานเข้ามาเพียง 1,324 คน สภาอุตสาหกรรมฯ เสนอควรตกลงกับเมียนมาร์ใหม่ ผ่อนปรนให้แรงงานนอกเมียวดีเข้าทำงานได้ และขยายเวลาจาก 30 เป็น 90 วัน
เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เป็นศูนย์กลางฐานผลิตที่สำคัญ มูลค่าการส่งออกเพิ่มทุกปี โดยปี 59 สูงถึง 80,000 ล้านบาท เพราะจุดแข็งด้านแรงงาน ปัจจุบันมีนักลงทุนนับร้อยรายต่อแถวลงทุน แต่แรงงานปัจจัยสำคัญของการผลิตกลับไม่พอ หากรัฐไม่มีมาตราการแก้ปัญหาที่ชัดเจน อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน.-สำนักข่าวไทย