กรุงเทพฯ 20 เม.ย. – สศอ.เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 เคาะ 5 อุตสาหกรรม S-Curve ชุดแรก ตั้งเป้าเห็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ พร้อมชงกองทุนสนับสนุนวงเงิน 10,000 ล้านบาท
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินนโยบายตามแนวทางของรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมาย 5 อุตสาหกรรม S-Curve ชุดแรกเร่งด่วน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมโดยเร็วและจะต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2560
ทั้งนี้ 5 อุตสาหกรรมนำร่องชุดแรกจะใช้การขับเคลื่อนตามแนวทางประชารัฐรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตทั้งระบบการผลิตแบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ Industry 4.0 โดยมีรายละเอียดที่จะต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมแต่ละอุตสาหกรรมภายในปี 2560
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากเดิมที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงและมักเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกกำหนดจากราคาตลาดโลกไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะสร้างให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์โลกและยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมพร้อมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์กำหนดเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำอาเซียนด้านการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองผ่านการจัดตั้ง Center of Excellence เพื่อเป็นศูนย์อัจฉริยะด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บุคลากรและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ตั้งเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ “Bioeconomy”
และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมายที่เป็นรากฐานสำคัญและสร้างงานให้กับภาคเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน โดยวางเป้าผลักดันกรุงเทพฯ ไปสู่ 1 ใน 5 Fashion Capital of Asia ภายในปี 2579
“กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามแนวทางประชารัฐ จัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ มีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางและผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ พร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)” นายศิริรุจ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
