กรุงเทพฯ 19 เม.ย.-ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นหมุดคณะราษฎรถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนเกิดกระแสความสนใจของคนในสังคม แล้วหมุดนี้มีความสำคัญอย่างไร และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ติดตามจากรายงานของทีมข่าวสังคม
ในทางประวัติศาสตร์ หมุดคณะราษฎรจัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าคณะราษฎร และเป็นผู้ทำพิธีฝังหมุดกับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยเป็นหมุดทองเหลือง สลักข้อความเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ปฏิวัติสยามเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 จุดที่ปักหมุดคือ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นัยสำคัญของการปักหมุด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย หรือความปรองดองที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ที่เลือกปักหมุดวันที่ 10 ธันวาคม เพราะเป็นวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาหมุดคณะราษฎร เคยถูกเปลี่ยนไปแล้ว 1 ครั้ง สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นเก็บหมุดเก่าไว้ และนำกลับมาไว้จุดเดิม เมื่อสิ้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
หากมองแง่ดี เรื่องนี้ทำให้คนในสังคมสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีหมุดจำลอง ที่ปัจจุบันนักศึกษาแทบจะไม่รู้จัก
ดร.ชาญวิทย์ วิเคราะห์ทิ้งท้ายว่าเหตุการณ์หมุดหาย แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อความวุ่นวาย แต่วิกฤติบ้านเมืองที่ขัดแย้งมายาวนาน ยังคงรอคนไทยร่วมใจสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย