รพ.นพรัตน์ราชธานี 19 เม.ย.- อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยสงกรานต์นี้มีคนเมาแล้วขับเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ 5,173 คน ให้ทำงานบริการสังคมใน รพ. โดยเฉพาะช่วยงานห้องฉุกเฉิน-ห้องดับจิต เพื่อสำนึกไม่กลับ ไปทำผิดซ้ำ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ รว่มกับ นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ร่วมแถลงข่าว “คุมประพฤติจัดหนัก ดื่มแล้วขับ เข้าห้องดับจิต” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,690 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 390 ราย บาดเจ็บ 3,808 ราย มีคดีที่เข้าสู่กระบวน การคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 120 แห่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 5,173 คดีแบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 4,856 คดี ,เสพของมึนเมาขณะขับรถ จำนวน 278 คดี และขับรถประมาท(ตามประมวลกฎหมายอาญา) 39 คดี
จังหวัดที่มีสถิติคดีสูงสุดคือนครพนม 402 คดี ,กรุงเทพฯ 287 คดี, สุรินทร์ 285 คดี ทั้งในส่วนของคดีที่เข้าสู่ศาลไม่ได้แค่ที่ได้รายงานเพราะอยู่ในการพิจารณาอีกหลายคดี แต่ ณ วันนี้ ที่ศาลมีคำสั่งให้คุมประพฤติมีตามที่ได้แจ้ง โดยผู้ทำผิดในคดีจะต้องไปทำงานบริการสังคมในสถานพยาบาล แต่ละคนมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ที่น่าจะทำให้เกิดการสำนึกคือการเข้าไปช่วยในห้องฉุกเฉินและห้องดับจิต จะได้เห็นสภาพของผู้ที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุที่เกิดจากเมาแล้วขับ เป็นกุศโลบายที่ในต่างประเทศได้ทำกัน
“ต้องยอมรับว่าคนที่ทำผิดเมาแล้วขับ คงไม่เกิดการสำนึกเท่าไหร่ เหมือนสุภาษิตที่ว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา การจะให้ไปศึกษาอบรมก็คงจะไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด จึงต้องให้มาสัมผัสเอง”พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่มีการรวบรวมสถิติผู้ได้เข้าโปรแกรมและกลับไปกระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากนี้จะได้มีการรวบรวมสถิติข้อมูลอย่างสะเอียดเพื่อนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แต่ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ที่เข้าโปรแกรมจะมีความสำนึก และไม่กลับไปกระทำผิดอีกไม่มากก็น้อย
ด้าน นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยอดผู้มาปฏิบัติบริการสังคมในโรงพยาบาลมี 2,314 ราย โรงพยาบาลจัดให้ทำงาน ตั้งแต่ ฝ่ายระเบียนเวช ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ห้องดับจิต เป็นต้น ซึ่งในอนาคตคงต้องมีการรวบรวมสถิติผู้ที่กระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี เพื่อนำมาปรับปรุงให้ได้ผลมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ด้านจิตอาสาที่กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับรายหนึ่ง กล่าาว่า ตนโดนจับในข้อหาเมาแล้วขับ เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ เดือนมกราคมที่ผานมา โดนเป่าแอลกอฮอลล์ได้กว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และถูกจำคุก 1 คืนรู้สึกว่าท้อเเท้กับชีวิตมาก ไม่กล้าบอกครอบครัว เพราะกลัวจะทำให้ผิดหวัง แต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้คุมประพฤติและต้องทำงานบริการในโรงพยาบาลเป็นเวลา 24 ชั่วฏมง โดยแบ่งเป็นเดือนละครั้ง ครั้งละ 6 ชั่วโมง วันนี้มาปฎิบัติเป็นวันแรก เมื่อได้มาเห็นผู้ที่เสียชีวิต หรือบาดเจ็บจากเมาแล้วขับทำให้ฉุกคิดได้ และคงจะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำสองแล้ว และอยากจะกลับไปบอกเพื่อนฝูง ครอบครัว ลูกหลานไม่ให้กระทำผิดเเบบตนอีก ถือเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยตระหนักว่าผลที่ตามมาคืออะไร .-สำนักข่าวไทย