กรุงเทพฯ 17 เม.ย.- “สมชัย” ระบุเพิ่มคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระไม่ได้มีเฉพาะ กกต.หากยึดตามรัฐธรรมนูญใหม่ใครคุณสมบัติไม่ครบต้องไปทุกคน ย้ำพร้อมเก็บของ เตือนบทเฉพาะกาลใครขาดคุณสมบัติให้พ้นตำแหน่งทันทีถือเป็นการติดล็อคการเมือง อาจสรรหาไม่ทัน ไม่อยากให้ใช้ ม.44 พร่ำเพื่อ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงปัญหาคุณสมบัติของ กกต.ปัจจุบันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ว่า สนช.เตรียมที่จะพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ กรธ.ได้เสนอมา ซึ่งจะมีประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของ กกต. และการสรรหา กกต.เพิ่มเติมให้ครบ 7 คนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ตนเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่ได้มีผลเฉพาะ กกต. แต่ยังกระทบองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย แต่ของ กกต.จะให้อยู่ต่อหรือไม่ก็แล้วแต่ สนช. ใครมีคุณสมบัติครบตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดก็อยู่ต่อ ไม่ครบก็ไป คิดว่าทุกคนพร้อมออก พร้อมเก็บของ
นายสมชัย กล่าวว่า มีประเด็นที่เห็นว่าน่ากังวลใจในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.ป.กกต.กำหนดไว้ว่า เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาวินิจฉัยว่า กกต.ปัจจุบันใครขาดคุณสมบัติ ซึ่งเมื่อพบก็ให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นการพ้นในทันที เช่น วินิจฉัยวันนี้ก็พ้นจากตำแหน่งในวันต่อไปเลย และคำสั่งถือเป็นที่สุด ตรงนี้จะทำให้เกิดการติดล็อคของระบบการเมืองไทยทั้งประเทศหรือไม่
“สมมุติมีองค์กรอิสระหนึ่ง มีกรรมการที่คุณสมบัติไม่ครบเกินครึ่ง คณะกรรมการสรรหาลงมติวันที่ 31 มีนาคม วันที่ 1 เมษายนต้องออกทันที ทำให้องค์คณะขององค์กรอิสระนั้นเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง การจะพิจารณาเรื่องสำคัญก็จะทำไม่ได้ แล้วเมื่อไปดูขั้นตอนการสรรหาคณะกรรมการสรรหาจะใช้เวลา 30 วัน ดำเนินการสรรหากรรมการมาทดแทน หรือเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นส่งไปสนช.พิจารณาอีก 30 วัน ถ้าเห็นชอบก็มีขั้นตอนเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ รวมเบ็ตเสร็จแล้วใช้เวลาอย่างน้อย 75 วัน หรือ 2 เดือนครึ่ง ก็เป็นช่วงระยะที่องค์กรอิสระนั้น จะไม่สามารถทำงานสำคัญอะไรได้เลย แต่ถ้าหากสนช.ตีกลับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอก็จะทำให้เสียเวลาไปอีกระยะหนึ่ง แต่ปัญหาเหล่านี้จะถือเป็นการติดล็อคทางการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่ สนช.จะต้องเป็นคนคิด” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย ยังกล่าวว่า ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.เขียนไว้แตกต่างจากกฎหมายลูกขององค์กรอิสระอื่น ที่จะให้กรรมการอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคนใหม่จะได้รับการแต่งตั้ง แต่ของ กกต.ถ้าคณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นทันที สมมุติเหลือ กกต.แค่ 3 คน ก็จะประชุมได้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญก็ต้องรอกรรมการใหม่ที่จะเข้ามาทดแทน จึงอยากให้ สนช.พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ อยากให้การแก้ไขดังกล่าวแก้ไขได้ในขั้นตอนของการเขียนกฎหมาย มากกว่าต้องมาแก้ไขด้วยการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งอื่น ที่ทำให้ดูเหมือนการเขียนกฎหมายนั้นดำเนินการแบบไม่รอบคอบ .-สำนักข่าวไทย