นักเคลื่อนไหวลาวถูกยิงตายในคาเฟ่กลางเมืองหลวง

เวียงจันทน์ 3 พ.ค.- นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวถูกยิงเสียชีวิตในคาเฟ่ใจกลางกรุงเวียงจันทน์เมื่อวันเสาร์ ด้านกลุ่มสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลลาวสอบสวนคดีอย่างเหมาะสม เว็บไซต์สำนักข่าวเคพีแอล (KPL) ของทางการลาวโพสต์คลิปจากกล้องวงจรปิดเมื่อวันจันทร์ เห็นมือปืนสวมเสื้อเชิ้ตสีน้ำตาลและหมวกสีดำเดินตรวจสอบเป้าหมายว่าอยู่ในคาเฟ่ ก่อนชักปืนพกสั้นที่เอวออกมาและกลับเข้าไปในร้านจ่อยิงระยะเผาขน 2 นัด เป้าหมายคือนายอนุสา หลวงสุพรม หรือ แจ็ค วัย 25 ปี ล้มลงบนพื้น ขณะที่มือปืนฉวยโอกาสหลบหนีไป คลิปจากกล้องวงจรปิดเห็นมือปืนใช้ผ้าเช็ดหน้าเปิดและปิดประตูร้านอย่างระมัดระวัง คาดว่าไม่ต้องการทิ้งลายนิ้วมือไว้ในที่เกิดเหตุ เคพีแอลระบุว่า ตำรวจกำลังสอบสวนและตามหาผู้ต้องสงสัย กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์และองค์การนิรโทษกรรมสากลประณามการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ทางการลาวดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสม องค์การนิรโทษกรรมสากลยังได้อ้างเพื่อนของแจ็คว่า การตายของเขาทำให้คนอื่น ๆ ตกใจกลัวและไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหว แจ็คเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” ที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวและได้รับความนิยม คนในโลกออนไลน์เข้าไปโพสต์ไว้อาลัยและเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการติดแฮชแท็กจัสทิสฟอร์แจ็ค #JusticeForJack ช่วงหลายปีมานี้มีนักเคลื่อนไหวชาวลาวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเสียชีวิตหรือหายสาบสูญ เช่น นายสมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมเจ้าของรางวัลแมกไซไซ วัย 71 ปี หายสาบสูญตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 หลังจากถูกตำรวจดึงตัวออกจากรถที่จุดตรวจในกรุงเวียงจันทน์ นายอ๊อด ไชยะวง นักเรียกร้องประชาธิปไตยที่ลี้ภัยมาไทยและหายสาบสูญตั้งแต่ปี 2562.-สำนักข่าวไทย

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมทากาวที่ศีรษะติดกับภาพเขียน

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งทากาวที่ศีรษะติดกับภาพเขียน “เกิร์ล วิธ อะ เพิร์ล เอียร์ริริ่ง” (Girl with a Pearl Earring) ที่โด่งดัง ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเฮก ชองเนเธอร์แลนด์ในวันนี้ แต่ภาพเขียนไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

นักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนปามันบดใส่ภาพวาด “โมเนต์”

นักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนออกมาทำกิจกรรมประท้วงเรียกร้องความสนใจต่อเนื่อง ล่าสุด 2 นักเคลื่อนไหวด้านโลกร้อนบุกเข้าไปปามันบดใส่ภาพวาดของโมเนต์ ศิลปินดัง ในพิพิธภัณฑ์ที่เยอรมนี

ประณามเมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว

ย่างกุ้ง 25 ก.ค.- หลายฝ่ายประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่เผยในวันนี้ว่า ได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือการก่อการร้าย รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาหรือเอ็นยูจี (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้เป็นกลุ่มนอกกฎหมายประณามการประหารและเรียกร้องให้ประชาคมโลกลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมาที่แสดงความโหดร้าย ขณะที่นายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมียนมาแถลงว่า ตกตะลึงและสิ้นหวังที่ทราบข่าวรัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิตชาวเมียนมาที่รักชาติและเชิดชูสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสียและชาวเมียนมาทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อความโหดร้าย การกระทำที่ต่ำช้านี้จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนให้แก่ประชาคมโลก โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงเมื่อเดือนก่อนว่า การลงโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและใช้ในหลายประเทศ พลเรือนผู้บริสุทธิอย่างน้อย 50 คน ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ต้องเสียชีวิตเพราะคนเหล่านี้ และได้ตำหนิต่างชาติที่ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คนว่า ไร้ความยั้งคิดและแทรกแซงเมียนมา หลังจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาในฐานะประเทศประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนวาระปัจจุบัน ได้ส่งสารถึง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาเมื่อเดือนมิถุนายนขอให้ระงับการประหารชีวิต แหล่งข่าวเผยว่า นักเคลื่อนไหวชายทั้ง 4 คนถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่ง ใกล้กรุงย่างกุ้ง ครอบครัวเดินทางมาเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แต่มีญาติเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยผ่านแพลตฟอร์มซูม สื่อทางการเมียนมารายงานในวันนี้ว่า มีการประหารชีวิต จากนั้นโฆษกรัฐบาลได้ยืนยันข่าวนี้กับวอยซ์ออฟเมียนมา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่ามีการประหารเมื่อใด.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาประหารนักเคลื่อนไหว 4 คน

ย่างกุ้ง 25 ก.ค.- สื่อทางการเมียนมารายงานวันนี้ว่า กองทัพได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือการก่อการร้าย นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า นักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คนถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนมกราคมในการพิจารณาคดีแบบปิด โดยถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธต่อสู้กับกองทัพ ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและประมวลกฎหมายอาญา ส่วนการประหารชีวิตดำเนินการตามกระบวนการของเรือนจำ รายงานระบุว่า ผู้ถูกประหารชีวิตรวมนายจ่อ มิน ยู วัย 53 ปี นักเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญที่รู้จักกันในชื่อ จิมมี และนายพโย จียา ตอ วัย 41 ปี นักดนตรีแนวฮิปฮอปและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นพันธมิตรกับนางออง ซาน ซู จี ทั้งคู่ยื่นอุทธรณ์แต่ถูกศาลปัดตกไปในเดือนมิถุนายน รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเมียนมาประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเผยว่า เมียนมามีการประหารชีวิตครั้งหลังสุดในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษหลังปี 1980 และตั้งแต่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีคนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงสังหารแล้วมากกว่า 2,100 คน.-สำนักข่าวไทย

“ไบเดน” ให้กำลังใจผู้รณรงค์คุมเข้มอาวุธปืน

นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ให้กำลังใจกลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ให้เพิ่มความเข้มงวดควบคุมอาวุธปืน ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงเรียกร้องที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วสหรัฐ

นักเคลื่อนไหวไต้หวันเผยถูกจีนใช้แรงงานหนักในคุก 5 ปี

ไทเป 10 พ.ค. – นักเคลื่อนไหวชาวไต้หวันที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปีในจีนเผยวันนี้ว่า เขาถูกบังคับใช้แรงงานและต้องทนกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ แต่ไม่ถูกกระทำทารุณกรรมใด ๆ  นายหลี่ หมิง-เชอะ อาจารย์วิทยาลัยชุมชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรอิสระในไต้หวัน ซึ่งหายตัวไปในจีนเมื่อปี 2560 ก่อนถูกศาลจีนตัดสินว่ามีความผิดฐานพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐในช่วงปลายปีเดียวกัน ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในจีนและเดินทางกลับไต้หวันเมื่อเดือนเมษายน นายหลี่เผยกับผู้สื่อข่าวที่รัฐสภาไต้หวันว่า เขาถูกบังคับให้ทำงานผลิตเครื่องแต่งกาย เช่น รองเท้าและถุงมือ ในช่วงที่ถูกจำคุก 5 ปี โดยต้องทำงานวันละ 11-12 ชั่วโมง แทบจะไม่มีวันหยุด และยังไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับนักโทษส่วนใหญ่ในเรือนจำ ทั้งยังกล่าวว่าเรือนจำแห่งนี้เปรียบเสมือนโรงงานนรก นายหลี่ยังระบุว่า เขาต้องทนกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะเพื่อประทังชีวิต แต่ไม่ถูกทรมานร่างกายหรือถูกเฆี่ยนตี และมองว่าตัวเขาถูกรัฐบาลจีนอุ้มหาย นายหลี่ยอมรับในช่วงไต่สวนคดีว่า เขาได้วิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนและเผยแพร่บทความหรือข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนระบบหลายพรรคการเมืองของไต้หวัน ทั้งยังระบุว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้การโต้แย้งในศาล และคิดว่าข้อหาที่จีนยัดเยียดให้เขาเป็นสิ่งที่น่าขัน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีอะไรกล่าวถึงรัฐบาลจีนอีกหรือไม่ เพราะตอนนี้นายหลี่ได้เดินทางกลับมายังไต้หวันและมีเสรีภาพในการพูด เขาตอบว่า ไต้หวันกับจีนเป็นคนละประเทศกันโดยมีช่องแคบไต้หวันเป็นเส้นแบ่งแยกพรมแดน.-สำนักข่าวไทย

นักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนบุกเวทีแฟชั่น “หลุยส์ วิตตอง”

ปารีส 6 ต.ค. – นักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนบุกขึ้นเดินบนเวทีแฟชั่นโชว์ของหลุยส์ วิตตองเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น พร้อมถือป้ายที่มีข้อความประณามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาการบริโภคเกินจำเป็นต่อสิ่งแวดล้อม ผู้เห็นเหตุการณ์เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า นักเคลื่อนไหวสตรีของกลุ่มเยาวชนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญพันธุ์ (Youth for Climate and Extinction Rebellion) บุกขึ้นเวทีแฟชั่นโชว์พร้อมเดินถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘การบริโภคเกินจำเป็นเท่ากับการสูญพันธุ์’ ในขณะที่บรรดานางแบบของหลุยส์ วิตตอง กำลังเดินอยู่บนเวทีจนเกิดเสียงฮือฮาในหมู่ผู้ชม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมแถวหน้าที่มี แคเธอรีน เดอเนิฟ และ อิซาเบล อูแปร์ ดาราภาพยนตร์หญิงชื่อดังของฝรั่งเศสนั่งอยู่ รวมถึงแขกพิเศษของนายแบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มแอลวีเอ็มเอช โมเอต์ หลุยส์ วิตตอง หรือแอลวีเอ็มเอช ที่นั่งอยู่ข้างเขาต่างมองหน้ากันเลิ่กลั่ก อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เข้ามาควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวคนดังกล่าวออกไปจากงานในเวลาต่อมา และเหตุดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินแบบของบรรดานางแบบที่จัดขึ้นบนลานเดินในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของฝรั่งเศส กลุ่มเยาวชนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญพันธุ์ระบุว่า การประท้วงดังกล่าวมุ่งเป้าโจมตีแบรนด์แอลวีเอ็มเอชเพื่อสะท้อนถึงปัญหาการบริโภคเกินจำเป็น แบรนด์ดังกล่าวเป็นผู้นำระดับโลกในด้านสินค้าหรูหราและต้องแสดงความรับผิดชอบจากกรณีที่อุตสาหกรรมสิ่งทอมักเปลี่ยนคอลเลกชั่นใหม่เร็วขึ้นกว่าเดิมจนทำให้เกิดการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น.-สำนักข่าวไทย

นักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นขอใช้มาตรการเข้มกับกองทัพเมียนมา

โตเกียว 23 มี.ค. – นักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาในญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นและประชาคมระหว่างประเทศใช้มาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อหยุดการสังหารผู้ประท้วงในเมียนมา รวมถึงการใช้คำสั่งห้ามค้าอาวุธเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา แม้ว่าชาติตะวันตกหลายประเทศได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษที่เพิ่มขึ้นกับกลุ่มคนหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาในญี่ปุ่นระบุว่าจำเป็นต้องเพิ่มแรงกดดันรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่านี้ โดยเฉพาะแรงกดดันจากญี่ปุ่น จอ จอ โซ หนึ่งในกรรมการสมาคมพลเมืองแห่งสหภาพเมียนมาในญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นควรใช้อำนาจที่มีอยู่ เช่น อำนาจทางการทูต การค้า หรือการเมือง เพื่อเจรจาโดยตรงกับเหล่านายพลเมียนมาที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 261 คน ส่วนประชาคมระหว่างประเทศต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อหยุดการสังหารชาวเมียนมา โดยไม่ทำเพียงแค่การประกาศแถลงการณ์หรือแสดงความคิดเห็น ขณะที่หัวหน้าสมาคมโรฮิงญาแห่งเมียนมาในญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลทหารไม่ควรได้รับการยอมรับไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม และมาตรการลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรัฐประหารนั้นมีความรุนแรงน้อยมาก ทั้งที่จริงแล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรใช้คำสั่งห้ามค้าอาวุธกับเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาก็คือคนกลุ่มเดียวกันที่ออกคำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในปี 2560 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นเผยว่า ญี่ปุ่นกำลังเฝ้าระวังสถานการณ์ในเมียนมานับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหาร และจะพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลือรายใหญ่ของเมียนมา และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับเมียนมามาเป็นเวลานาน.-สำนักข่าวไทย

ฮ่องกงตั้งข้อหา 47 คน คบคิดล้มล้างอำนาจรัฐ

ฮ่องกง 28 ก.พ.- สมาชิกสภาฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวในฮ่องกงรวม 47 คน ถูกตั้งข้อหาคบคิดกันล้มล้างอำนาจรัฐ ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ใช้เมื่อกลางปีก่อน หลังจากถูกจับกุมเมื่อต้นเดือนมกราคมเพราะข้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งตัวแทนพรรคโดยไม่ได้รับอนุญาต เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ทั้งหมดอายุ 23-46 ปี ถูกตั้งข้อหาโดยที่ตำรวจไม่ให้ประกันตัว และจะถูกนำตัวขึ้นศาลแขวงเกาลูนตะวันตกในวันจันทร์ มีทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย หนึ่งในผู้ออกแบบการเลือกตั้งตัวแทนพรรค ประธานพรรคประชาธิปไตย ประธานและรองประธานพรรคพลเมือง กลุ่มสมาชิกสภาเทศบาล และโจชัว หว่องที่ถูกอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว ตำรวจให้พวกเขาและทนายความมาพบช่วงบ่ายวันนี้ เร็วกว่ากำหนดหนึ่งเดือนโดยไม่ได้ให้เหตุผล ด้านเอเอฟพีรายงานว่า ตำรวจเรียกผู้ถูกจับกุม 55 คนมาพบในวันนี้ ในจำนวนนี้ 47 คนถูกตั้งข้อหาคนละหนึ่งกระทงคือ ข้อหาคบคิดกันล้มล้างอำนาจรัฐ เป็นหนึ่งใน 5 ความผิดอาญาตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จีนใช้กับฮ่องกง ประกอบด้วยการล้มล้างอำนาจรัฐ การแยกดินแดน การก่อการร้าย และการคบคิดกับกองกำลังต่างชาติ เป็นข้อหาที่ไม่ให้ประกันตัวและมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ชาวฮ่องกงกว่า 600,000 คน เข้าร่วมการเลือกตั้งของฝ่ายค้านเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน เพื่อเลือกตัวแทนพรรคลงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ทางการเลื่อนจากเดือนกันยายนปีก่อนเป็นเดือนกันยายนปีหน้า หวังให้ได้เสียงข้างมากในสภาเป็นครั้งแรก เรียกว่ากลยุทธ์ 35 บวก ทางการจีนและฮ่องกงระบุว่า แผนการของฝ่ายค้านที่จะยึดอำนาจในสภานิติบัญญัติที่มีสมาชิกสภา 70 คนเป็นความพยายามโค่นล้มและทำให้รัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ.-สำนักข่าวไทย

ฮ่องกงจับกุมนักเคลื่อนไหว 53 คนฐานพยายามล้มรัฐบาล

ตำรวจฮ่องกงจับกุมนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 53 คน ในระหว่างการบุกจับกุมในหลายสถานที่ในวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า การเลือกตั้งเพื่อสรรหาตัวผู้สมัครของกลุ่มฝ่ายค้านสำหรับลงสมัครชิงเก้าอื้ในสภานิติบัญญัติฮ่องกง เป็นส่วนหนึ่งของแผนการโค้นล้มรัฐบาลฮ่องกง

1 2 3 4 8
...