โตเกียว 13 เม.ย.- รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจวันนี้ว่า จะปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิลงสู่ทะเล โดยยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม แม้มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่า นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะกล่าวในการหารือกับรัฐมนตรีหลายคน รวมทั้งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเพื่อตัดสินใจอย่างเป็นทางการว่า การปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตามแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิ ญี่ปุ่นจะให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ (IAEA) และกลุ่มภายนอกเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยเพื่อความโปร่งใส ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะปล่อยน้ำลงทะเลได้จริง เนื่องจากต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและการตรวจสอบความปลอดภัย คณะอนุกรรมการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมสรุปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนว่า การปล่อยน้ำบำบัดแล้วลงสู่ทะเลและการทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอล้วนเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ทางเลือกแรกเป็นไปได้ในทางเทคนิคมากกว่า ขณะที่ไอเออีเอสนับสนุนทางเลือกนี้เพราะเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์และเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลก สหพันธ์สหกรณ์ประมงญี่ปุ่นคัดค้านการตัดสินใจดังกล่าวและเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ได้รับอาหารทะเลที่จับมาจากน่านน้ำใกล้โรงไฟฟ้าดังกล่าวที่เสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เจ้าหน้าที่ต้องสูบน้ำเข้าไปหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์ น้ำในโรงงานจึงปนเปื้อนรังสี ทางการใช้กระบวนการบำบัดสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ แต่ยังคงเหลือทริเทียมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเล็กน้อยหากมีความเข้มข้นต่ำ ปริมาณน้ำสะสมในโรงงานขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านตัน ด้านจีน ไต้หวัน และเกาหลีคัดค้านอย่างแข็งขันหลังทราบการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้อยู่ในกลุ่ม 15 ประเทศที่ยังคงจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงและเกษตรจากพื้นที่ดังกล่าวของญี่ปุ่น.-สำนักข่าวไทย