รัฐบาลทหารเมียนมาตั้ง 2 ข้อหานักข่าวญี่ปุ่น

เนปิดอว์ 4 ส.ค. – รัฐบาลทหารเมียนมาตั้งข้อหานักข่าวญี่ปุ่นที่ถูกจับกุมเมื่อวันเสาร์ในข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมืองและยุยงส่งเสริมให้เกิดการต่อต้านกองทัพเมียนมา รัฐบาลทหารเมียนมาระบุในแถลงการณ์วันนี้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้ตั้งข้อหา นายโทรุ คูโบตะ นักข่าวชาวญี่ปุ่น วัย 26 ปี ที่ถูกจับกุมในขณะทำข่าวเหตุประท้วงในนครย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ก่อน ในข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และยุยงส่งเสริมให้เกิดการต่อต้านกองทัพเมียนมา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ก่อนหน้านี้ นายคูโบตะถูกจับกุมตัวพร้อมพลเมืองเมียนมาร์อีก 2 คนเมื่อวันเสาร์ในพื้นที่ใกล้การชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมาในนครย่างกุ้ง นายคูโบตะเป็นนักข่าวต่างชาติคนที่ห้าที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมตัวในประเทศต่อจากนายนาธาน หม่อง และนายแดนนี เฟนสเตอร์ สองนักข่าวชาวอเมริกัน นายโรเบิร์ต โบเซียกา นักข่าวอิสระชาวโปแลนด์ และนายยูกิ คิตะซูมิ นักข่าวชาวญี่ปุ่น โดยที่ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศแล้ว ทั้งนี้ รีพอร์ตทิง อาเซียน (Reporting ASEAN) กลุ่มเฝ้าระวังสถานการณ์ในเมียนมา ระบุว่า ขณะนี้มีนักข่าว 48 คนที่ยังคงถูกรัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมตัวนับถึงเดือนมีนาคมปีนี้. -สำนักข่าวไทย

รัฐมนตรีอาเซียนจะผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในเมียนมา

รัฐมนตรีต่างประเทศชองสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนจะเพิ่มความกดดันเมียนมา ในระหว่างการประชุมที่กรุงพนมเปญของกัมพูชาในวันนี้

เผย รมต. ต่างประเทศรัสเซียเยือนเมียนมาวันพุธ

เนปิดอว์ 3 ส.ค. – นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย จะเดินทางเยือนเมียนมาในวันพุธ ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลต่างประเทศที่เดินทางเยือนเมียนมานับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานอ้างคำพูดของนางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ที่เผยว่า นายลาฟรอฟจะเดินทางเยือนเมียนมาในวันพุธ และจะหารือกับนายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงพบปะกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาที่กรุงเนปิดอว์ นางซาคาโรวายังระบุว่า การหารือดังกล่าวจะครอบคลุมประเด็นความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง และมนุษยธรรม ทั้งนี้ นายลาฟรอฟมีกำหนดเดินทางต่อไปยังกัมพูชาหลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนเมียนมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรอย่างหนักจากกลุ่มชาติตะวันตกนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อเหตุรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากนางออง ซาน ซู จี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และเปิดฉากปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี เมียนมายังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย โดยที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเพิ่งระบุในช่วงต้นเดือนนี้ว่า ทั้งสองประเทศจะกระชับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศหลังพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้เดินทางเยือนเมียนมา ก่อนหน้านี้ นายโทมัส แอนดรูว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ว่า รัสเซียได้ส่งโดรน เครื่องบินขับไล่ 2 […]

“มิน อ่อง หล่าย” ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว

กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ต่ออายุอำนาจการปกครองออกไปอีก 6 เดือน ด้วยการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งที่ระบุว่าจะจัดขึ้นในปีหน้า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ปราศรัยทางโทรทัศน์ในวันนี้ว่า ได้ขยายสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศเมื่อปีก่อนหลังยึดอำนาจ เนื่องจากต้องการเวลาในการเดินหน้าการทำงานเพื่อนำประเทศกลับสู่เส้นทางระบอบประชาธิปไตยที่สันติและแบบหลายพรรคที่มีวินัย และเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปแบบประชาธิปไตยหลายพรรค กองทัพได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบตั้งแต่ยึดอำนาจ แต่กลุ่มก่อการร้ายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้คนและองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายมุ่งมั่นที่จะทำลายเมียนมา แทนที่จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยในเมียนมา พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายกล่าวว่า ความขัดแย้งทางอาวุธจะต้องยุติเพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะไม่มีการข่มขู่คุกคามหรือความไม่เป็นธรรม หน่วยงานความมั่นคงจะเร่งดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศเพื่อให้เมียนมาสามารถจัดการเลือกตั้งได้ เอพีตั้งข้อสังเกตว่า คำปราศรัยของผู้นำสูงสุดเมียนมาเรื่องการยุติความขัดแย้งทางอาวุธดูเหมือนจะหมายถึงปฏิบัติการทางทหารที่รัฐบาลใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย เดิมกองทัพเมียนมาประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปีหลังการยึดอำนาจในปี 2564 แต่ต่อมาประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งในปี 2566.-สำนักข่าวไทย

มาเลเซียจะผลักดันอาเซียนกดดันเมียนมา

พนมเปญ 1 ส.ค.- มาเลเซียเตรียมเป็นแกนนำผลักดันให้ดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับเมียนมา เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะประชุมกันในสัปดาห์นี้ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญของกัมพูชาระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคมนี้ มาเลเซียจะนำเสนอกรอบเวลาในการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ประการที่อาเซียนและเมียนมาตกลงกันเมื่อเดือนเมษายน ปี 2564 และไม่มีความคืบหน้า องค์ประกอบสำคัญในกรอบข้อตกลงนี้คือ การที่จะต้องปฏิบัติตามแผนให้แล้วเสร็จ นายไซฟุดดินยังได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การที่เมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 4 คนเมื่อเดือนก่อน แสดงให้เห็นว่า เมียนมาลบหลู่แผนฉันทามติที่เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร อาเซียนประณามเมียนมาเรื่องประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว ขณะที่สมาชิกอาเซียนหลายประเทศก็วิพากษ์วิจารณ์เมียนมา แต่นักการทูตอาวุโสในอาเซียนไม่คิดว่า จะมีประเทศใดถึงขั้นเรียกร้องให้ขับเมียนมาออกจากอาเซียน.-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นเรียกร้องเมียนมาปล่อยตัวชายญี่ปุ่นโดยเร็ว

โตเกียว 1 ส.ค.- โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงวันนี้ว่า รัฐบาลได้เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวชายชาวญี่ปุ่นที่ถูกควบคุมตัวในนครย่างกุ้งโดยเร็ว รองหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยระหว่างการแถลงข่าวประจำวันว่า รัฐบาลกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ชายคนนี้รับการปล่อยตัว เป็นชายวัย 20 ปีเศษที่สื่อเมียนมารายงานว่า คือนายโทรุ คูโบตะ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี รัฐบาลได้ประสานงานกับครอบครัวของเขาแล้ว และกำลังรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านสถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมาเผยว่า ชายคนนี้ถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำที่สถานีตำรวจ หลังจากบันทึกภาพการประท้วงในนครย่างกุ้งเมื่อวันเสาร์ เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กองกำลังความมั่นคงเมียนมาเคยควบคุมตัวนายยูกิ คิตะซูมิ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวญี่ปุ่น ขณะรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจในเดือนเดียวกัน และได้ปล่อยตัวในอีกไม่กี่ชั่วโมง ต่อมานายคิตะซูมิถูกจับกุมในเดือนเมษายนข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จและละเมิดระเบียบการเข้าเมือง เขาได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคมตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นและคนกลางหลายฝ่ายร้องขอ และเดินทางกลับญี่ปุ่นในเดือนเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย

เผยชาวญี่ปุ่นถูกจับในเมียนมาเพราะบันทึกภาพประท้วง

กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเผยว่า ชายชาวญี่ปุ่นถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเมียนมาควบคุมตัวเพราะบันทึกภาพการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในนครย่างกุ้ง แกนนำกลุ่มเยาวชนประชาธิปไตยโต้กลับย่างกุ้ง ซึ่งจัดการประท้วงแบบฉับพลันในนครย่างกุ้งเมื่อวันเสาร์เผยว่า นายโทรุ คูโบตะ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบควบคุมตัวหลังการประท้วง นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุม 2 คนถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจด้วย ส่วนภาพนายคูโบตะถือป้ายประท้วงที่บัญชีของกลุ่มสนับสนุนกองทัพเมียนมาโพสต์ในแอปพลิเคชันเทเลแกรมแล้วอ้างว่า ไม่ได้ถูกจับเพราะบันทึกภาพ แต่ถูกจับเพราะร่วมประท้วงนั้น แกนนำกลุ่มประท้วงชี้ว่า ภาพถ่ายหลังจากนายคูโบตะถูกจับกุมแล้ว บ่งชี้ว่าเป็นภาพบังคับจัดฉาก เจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นที่ขอสงวนนามเผยว่า มีข่าวชาวญี่ปุ่นถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำที่สถานีตำรวจในนครย่างกุ้ง ทางสถานทูตกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ขณะที่รัฐบาลเมียนมายังไม่ประกาศเรื่องการจับกุมนายคูโบตะ และสื่อทางการเมียนมาที่มักรายงานข่าวการจับกุมผู้ประท้วงก็ไม่รายงานเรื่องนี้ ข้อมูลตามเว็บไซต์ประวัติการทำงานของคูโบตะระบุว่า งานของเขาเน้นประเด็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ คนเข้าเมือง และผู้อพยพ  โดยพยายามหยิบยกเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่ถูกทำให้ไร้ความสำคัญและด้อยโอกาส เขาทำงานให้แก่บริษัทสื่ออย่างยาฮูนิวส์เจแปน ไวซ์เจแปน และอัลจาซีราห์ภาษาอังกฤษ.-สำนักข่าวไทย

“มิน อ่อง หล่าย” จะขยายสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 6 เดือน

เนปิดอว์ 1 ส.ค.- สื่อทางการเมียนมารายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาจะขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน โดยที่สภาความมั่นคงและกลาโหมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า สมาชิกสภาความมั่นคงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อข้อเสนอขยายระยะเวลาของการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน พร้อมกับอ้างคำกล่าวของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายว่า เมียนมาต้องเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแบบหลายพรรคที่มีวินัย ซึ่งเป็นความปรารถนาของประชาชน รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรก หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างเรื่องมีการโกงเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่พรรคของนางซู จีชนะเลือกตั้ง เมียนมาได้ตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่นั้น เนื่องจากกองทัพใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงตามเมืองต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ชุมนุมอย่างสันติ กองทัพเมียนมารับปากจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม 2566.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาจับชาวญี่ปุ่นร่วมประท้วงในย่างกุ้ง

ย่างกุ้ง 31 ก.ค.- สื่อเมียนมารายงานว่า ตำรวจเมียนมาได้ควบคุมตัวชายชาวญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในนครย่างกุ้ง เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์อ้างรายงานของสื่อเมียนมาว่า ชายคนนี้อยู่กับกลุ่มผู้ประท้วงในเขตดาโกงใต้ และถูกควบคุมตัวพร้อมกับชาวเมียนมา 2 คน ตำรวจได้ยึดข้าวของของพวกเขา รวมทั้งกล้องถ่ายรูป ด้านสถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมาแจ้งว่า ได้ขอให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวชายคนนนี้ ซึ่งอยู่ในวัย 20 ปีเศษ และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจในนครย่างกุ้ง แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเขาคือ นายโทรุ คูโบตะ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีตามที่มีรายงานระบุหรือไม่ เกียวโดนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า เมียนมาเคยควบคุมตัวผู้สื่อข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งในเดือนเมษายน 2564 และดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และฝ่าฝืนข้อกำหนดวีซ่า เขาได้รับการปล่อยตัวในเดือนต่อมาตามคำขอของรัฐบาลญี่ปุ่นและคนกลางหลายฝ่าย.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาโต้ประหารนักเคลื่อนไหวการเมืองเพื่อความยุติธรรม

เนปิดอว์ 26 ก.ค. – รัฐบาลทหารเมียนมาแถลงข่าวโต้แย้งเรื่องคำสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คนว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในนามของความยุติธรรมเพื่อประชาชน นายซอ มิน ตัน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา เผยวันนี้ว่า คำสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 คนไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องส่วนตัว แต่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และนักเคลื่อนไหวทั้งสี่คนก็ได้รับโอกาสให้ต่อสู้คดี ทั้งยังระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาทราบอยู่ก่อนแล้วว่า คำสั่งประหารชีวิตดังกล่าว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเมียนมา จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย ได้ออกมาตำหนิรัฐบาลทหารเมียนมาในวันนี้ว่า คำสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวการเมือง 4 คนเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เมียนมาไม่สมควรได้รับอนุญาตให้ส่งตัวแทนทางการเมืองเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในเวทีนานาชาติ ทั้งยังระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาตั้งใจเย้ยหยันแผนสันติภาพตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนด้วยการประกาศคำสั่งประหารดังกล่าว ก่อนหน้านี้ กัมพูชา ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ตำหนิคำสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวการเมือง 4 คนเช่นกัน โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง และทำลายความพยายามระดับภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในเมียนมา ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวการเมือง 4 คน ซึ่งรวมถึงนายจ่อ มิน ยู วัย 53 ปี […]

ประณามเมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว

ย่างกุ้ง 25 ก.ค.- หลายฝ่ายประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่เผยในวันนี้ว่า ได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือการก่อการร้าย รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาหรือเอ็นยูจี (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้เป็นกลุ่มนอกกฎหมายประณามการประหารและเรียกร้องให้ประชาคมโลกลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมาที่แสดงความโหดร้าย ขณะที่นายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมียนมาแถลงว่า ตกตะลึงและสิ้นหวังที่ทราบข่าวรัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิตชาวเมียนมาที่รักชาติและเชิดชูสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสียและชาวเมียนมาทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อความโหดร้าย การกระทำที่ต่ำช้านี้จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนให้แก่ประชาคมโลก โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงเมื่อเดือนก่อนว่า การลงโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและใช้ในหลายประเทศ พลเรือนผู้บริสุทธิอย่างน้อย 50 คน ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ต้องเสียชีวิตเพราะคนเหล่านี้ และได้ตำหนิต่างชาติที่ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คนว่า ไร้ความยั้งคิดและแทรกแซงเมียนมา หลังจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาในฐานะประเทศประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนวาระปัจจุบัน ได้ส่งสารถึง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาเมื่อเดือนมิถุนายนขอให้ระงับการประหารชีวิต แหล่งข่าวเผยว่า นักเคลื่อนไหวชายทั้ง 4 คนถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่ง ใกล้กรุงย่างกุ้ง ครอบครัวเดินทางมาเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แต่มีญาติเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยผ่านแพลตฟอร์มซูม สื่อทางการเมียนมารายงานในวันนี้ว่า มีการประหารชีวิต จากนั้นโฆษกรัฐบาลได้ยืนยันข่าวนี้กับวอยซ์ออฟเมียนมา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่ามีการประหารเมื่อใด.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาประหารนักเคลื่อนไหว 4 คน

ย่างกุ้ง 25 ก.ค.- สื่อทางการเมียนมารายงานวันนี้ว่า กองทัพได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือการก่อการร้าย นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า นักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คนถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนมกราคมในการพิจารณาคดีแบบปิด โดยถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธต่อสู้กับกองทัพ ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและประมวลกฎหมายอาญา ส่วนการประหารชีวิตดำเนินการตามกระบวนการของเรือนจำ รายงานระบุว่า ผู้ถูกประหารชีวิตรวมนายจ่อ มิน ยู วัย 53 ปี นักเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญที่รู้จักกันในชื่อ จิมมี และนายพโย จียา ตอ วัย 41 ปี นักดนตรีแนวฮิปฮอปและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นพันธมิตรกับนางออง ซาน ซู จี ทั้งคู่ยื่นอุทธรณ์แต่ถูกศาลปัดตกไปในเดือนมิถุนายน รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเมียนมาประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเผยว่า เมียนมามีการประหารชีวิตครั้งหลังสุดในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษหลังปี 1980 และตั้งแต่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีคนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงสังหารแล้วมากกว่า 2,100 คน.-สำนักข่าวไทย

1 35 36 37 38 39 127
...