ศรีลังกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังเกิดประท้วงรุนแรง

ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อช่วงคำวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากเกิดการประท้วงรุนแรงเพื่อแสดงความไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติในรอบหลายทศวรรษ

ศรีลังกาประจำการ จนท.ความมั่นคงทั่วเมืองหลวง

โคลัมโบ 1 เม.ย.- ศรีลังกาส่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงประจำการทั่วกรุงโคลัมโบในวันนี้ หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงพยายามบุกบ้านพักประธานาธิบดีเมื่อคืนที่ผ่านมา เพราะไม่พอใจวิกฤติเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราช ตำรวจกรุงโคลัมโบแจ้งว่า จับกุมผู้ประท้วงได้ 45 คน หนึ่งในนั้นบาดเจ็บสาหัส ทางการได้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว เมื่อกลางดึกที่ผ่านมาแล้วในเช้าวันนี้ แต่ได้เพิ่มกำลังทหารและตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วเมือง ส่วนถนนมุ่งหน้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ยังคงมีซากรถถูกวางเพลิง 1 คันกีดขวางอยู่ ผู้ประท้วงหลายร้อยคนที่ออกมาตามการชักชวนของนักเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ พากันเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดีเมื่อคืนที่ผ่านมาเรียกร้องให้เขาลาออก มีการวางเพลิงรถทหาร 2 คัน รถตำรวจ 1 คัน และใช้ก้อนอิฐขว้างปาเจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงใช้แก๊สน้ำตาและน้ำแรงดันสูงสลายฝูงชน แหล่งข่าวเผยว่า ประธานาธิบดีไม่ได้อยู่บ้านพักในเวลานั้น สถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งหนึ่งที่กำลังถ่ายทอดสดการประท้วงต้องหยุดออกอากาศกะทันหัน หลังจากผู้สื่อข่าวรายงานว่าถูกรัฐบาลกดดันให้ยุติ ชาวศรีลังกา 22 ล้านคน กำลังประสบภาวะขาดแคลนสิ่งของจำเป็นและสินค้าราคาแพงขึ้นมาก อันเป็นผลจากโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและเงินส่งกลับประเทศของแรงงานในต่างประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า สถานการณ์เลวร้ายลงเพราะรัฐบาลบริหารผิดพลาดและกู้เงินจนหนี้พอกพูนมาหลายปี ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศสูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) รัฐบาลถึงขั้นต้องห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศ ล่าสุดต้องตัดไฟฟ้านานเป็นประวัติการณ์ถึง 13 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ เพราะไม่มีน้ำมันดีเซลสำหรับผลิตไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาตัดไฟทั่วประเทศวันละ 10 ชม. แก้วิกฤตพลังงาน

ศรีลังกาเริ่มใช้มาตรการตัดไฟทั่วประเทศวันละ 10 ชั่วโมง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพิ่มจากเดิมที่ตัดไฟวันละ 7 ชั่วโมง เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก จนทำให้ไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

ศรีลังกาประท้วงขาดแคลนอาหาร-เชื้อเพลิง

ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนประท้วงชานกรุงโคลอมโบของศรีลังกา เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เชื้อเพลิงขาดแคลน ราคาอาหารสูงขึ้น

ศรีลังกาส่งทหารดูแลปั๊มหลังคนประท้วงน้ำมันขาดแคลน

โคลัมโบ 22 มี.ค.- ศรีลังกาส่งทหารไปรักษาความเรียบร้อยตามสถานีบริการน้ำมันในวันนี้ หลังจากมีคนก่อเหตุประท้วงด้วยความไม่พอใจที่ต้องรอคิวซื้อน้ำมันยาวเหยียดทุกวันในช่วงที่น้ำมันขาดแคลน ศรีลังกากำลังประสบภาวะเศรษฐกิจล้มเหลวครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากได้รับเอกราชในปี 2491 นอกจากต้องเวียนการดับกระแสไฟฟ้าแล้ว สินค้าจำเป็นอย่างอาหารและก๊าซหุงต้มก็กำลังขาดแคลน ทางการต้องส่งทหารไปรักษาความเรียบร้อยตามสถานีบริการน้ำมัน หลังจากมีฝูงชนปิดถนนสายพลุกพล่านในกรุงโคลัมโบ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตอยู่หลายชั่วโมง เนื่องจากไม่พอใจที่เมื่อวานนี้ไม่สามารถซื้อน้ำมันก๊าดสำหรับหุงต้มได้ เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมที่ขอสงวนนามเผยว่า คนไม่พอใจเพราะแถวรอซื้อน้ำมันก๊าดยาวขึ้นเรื่อย ๆ กระทรวงจึงตัดสินใจเมื่อคืนที่ผ่านมาให้ส่งทหารไปเสริมกำลังตำรวจ หวังให้คนเลิกก่อเหตุไม่สงบ นอกจากนี้ยังเกิดเหตุผู้ขับขี่คนหนึ่งแทงผู้ขับขี่อีกคนเสียชีวิต เพราะวิวาทกันเรื่องแซงคิวขณะรอเติมน้ำมันนอกกรุงโคลัมโบ ด้านตำรวจเผยว่า ตั้งแต่วันเสาร์เป็นต้นมามีผู้สูงอายุเสียชีวิตขณะรอคิวซื้อน้ำมันแล้ว 3 คน และมีประชาชนจำนวนมากปักหลักค้างคืนตามสถานีบริการน้ำมันเพื่อรอเติมน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาประกาศเรียกประชุมทุกพรรคการเมืองในวันพุธนี้เพื่อหารือทางออกวิกฤตเศรษฐกิจ แต่พรรคฝ่ายค้านเผยว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม วิกฤตการเงินของศรีลังกาที่มีประชากร 22 ล้านคนเกิดจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อันเป็นผลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กระทบการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ และกระทบการส่งเงินกลับประเทศของชาวศรีลังกาที่เป็นแรงงานในต่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจไม่มีเงินนำเข้าสินค้า สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่การสอบของนักเรียนหลายล้านคนก็ต้องเลื่อน เพราะขาดแคลนกระดาษและน้ำหมึกสำหรับทำข้อสอบ.-สำนักข่าวไทย

ชาวศรีลังกาต่อแถวยาวเหยียดรอซื้อน้ำมันจนตาย 2 ราย

โคลัมโบ 21 มี.ค. – เจ้าหน้าที่ของทางการศรีลังกา ระบุว่า มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 2 รายในขณะที่กำลังต่อแถวยาวเหยียดหลายชั่วโมงเพื่อรอซื้อน้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ศรีลังกากำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันและราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศจนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โฆษกสำนักงานตำรวจในกรุงโคลัมโบของศรีลังกาเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า ชายขับรถสามล้อ วัย 70 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ และชายวัย 72 ปี ได้เสียชีวิตในขณะที่กำลังต่อแถวรอซื้อน้ำมันเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมง ขณะที่สถานีโทรทัศน์อัลจาซีรารายงานว่า ชาวศรีลังกาต้องเข้าแถวรอซื้อน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมงมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว เนื่องจากศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศหลังประสบปัญหาด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในการซื้อสินค้านำเข้าสำคัญ จนทำให้อุปทานของสินค้าจำเป็นลดลงอย่างมาก ส่วนรัฐบาลศรีลังกาต้องใช้มาตรการเวียนดับไฟทั่วประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตการเงินจนไม่สามารถซื้อเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกัน สื่อท้องถิ่นของศรีลังการายงานว่า สตรีชาวศรีลังกาจำนวนมากก็ออกมาเข้าแถวยาวเหยียดท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดเพื่อรอซื้อแก๊สหุงต้มหน้าร้านค้าหลายแห่งทั่วประเทศ จนทำให้มีหลายคนที่ถึงกับเป็นลมในขณะต่อแถว ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลศรีลังการะบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ศรีลังกามีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 15.1 ทำสถิติสูงสุดในทวีปเอเชีย และมีภาวะราคาอาหารเฟ้อพุ่งถึงร้อยละ 25.7.-สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาต้องเวียนดับไฟทั่วประเทศเพราะฐานะการเงินย่ำแย่

โคลัมโบ 23 ก.พ.- ศรีลังกากำลังใช้มาตรการหมุนเวียนดับไฟทั่วประเทศ เนื่องจากประสบวิกฤตทางการเงิน เป็นเหตุให้ขาดแคลนเชื้อเพลิงจนกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า คณะกรรมาธิการสาธารณูปโภคของศรีลังกาแจ้งว่า จะดับไฟฟ้านาน 4 ชั่วโมง 30 นาทีในวันนี้ หลังจากดับไปแล้ว 2 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์และวันอังคาร โดยจะเวียนการดับไฟฟ้าไปตามแต่ละภูมิภาคระหว่างเวลา 08:30-22:30 น.ตามที่คณะกรรมการการไฟฟ้าศรีลังกายื่นขออนุญาต เนื่องจากภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงทำให้สูญเสียกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศราว 700 เมกะวัตต์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณูปโภคยืนยันว่า ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน ไม่ใช่วิกฤตไฟฟ้า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศรีลังกาที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าเป็นหลัก รัฐบาลขาดแคลนรายได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารวม 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 451,870 ล้านบาท) ทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงมาก และเศรษฐกิจวิกฤตที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 12.1 ในเดือนธันวาคม ขณะที่เงินรูปีศรีลังกาอ่อนค่าจนเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าเชื้อเพลิงและสิ่งจำเป็นจากต่างประเทศ ผู้ขับขี่ยวดยานพากันต่อแถวยาวเหยียด รอเติมน้ำมันตามสถานีบริการในกรุงโคลัมโบและชานเมือง หลายแห่งปิดเพราะน้ำมันหมด ศรีลังกามีตราสารหนี้ระหว่างประเทศที่ต้องชำระคืนจำนวน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 403,450 ล้านบาท) ธนาคารกลางศรีลังกาเผยว่า นับจนถึงสิ้นเดือนมกราคมเหลือทุนสำรองอย่างเป็นทางการ 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ […]

ศรีลังกาเผชิญวิกฤติน้ำมัน-เงินตราต่างประเทศ

ศรีลังกาเผชิญวิกฤติน้ำมันขาดแคลน เนื่องจากเงินตราต่างประเทศลดลง ขณะที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงการคลัง และธนาคารกลาง เพื่ออนุมัติเงินกองทุนแก้วิกฤติครั้งนี้

ศรีลังกาจะส่งใบชาใช้หนี้น้ำมันอิหร่าน

โคลัมโบ 23 ธ.ค.- ศรีลังกาจะชำระหนี้ค่าน้ำมันที่นำเข้าจากอิหร่าน ด้วยการส่งใบชาไปให้ทุกเดือนจนกว่าจะหมดหนี้จำนวน 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,430 ล้านบาท) นายราเมศ ปาติรานา รัฐมนตรีกระทรวงการเพาะปลูกของศรีลังกาเผยว่า รัฐบาลจะส่งใบชามูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 166 ล้านบาท) ไปให้อิหร่านทุกเดือน จนกว่าจะชำระค่าน้ำมันที่ค้างชำระอิหร่านตลอด 4 ปีที่ผ่านมาได้อย่างครบถ้วน การชำระเงินด้วยวิธีนี้ไม่ขัดต่อมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติหรือสหรัฐ เพราะใบชาถูกจัดเป็นอาหารตามเหตุผลด้านมนุษยธรรม และไม่มีธนาคารอิหร่านที่ถูกขึ้นบัญชีดำเข้ามาเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ด้วย ด้านกระทรวงการเพาะปลูกแถลงเพิ่มเติมว่า แผนการชำระหนี้ดังกล่าวจะช่วยให้ศรีลังกาประหยัดเงินตราต่างประเทศที่กำลังขาดแคลน เพราะชำระเป็นสกุลเงินรูปีศรีลังกา ขณะที่สมาคมผู้ปลูกใบชาศรีลังกาชี้ว่า วิธีนี้ให้ประโยชน์แก่ผู้ส่งออกโดยไม่จำเป็นเพราะเลี่ยงกลไกตลาดเสรี ขณะที่ผู้ปลูกยังไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะยังคงได้รับเป็นเงินรูปีศรีลังกาเช่นเดิม ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตหนี้สินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขั้นร้ายแรง ซึ่งเลวร้ายลงอีกเนื่องจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สมาชิกคณะกรรมการใบชาแห่งชาติเผยว่า นับเป็นครั้งแรกที่ศรีลังกาจะนำใบชาไปแลกเปลี่ยนเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ มีรายงานว่า ศรีลังกามีกำหนดชำระหนี้ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 151,140 ล้านบาท) ในปีหน้า แต่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงเหลือ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 53,740 ล้านบาท) นับจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ดี […]

ศรีลังกายอมถอยเป้าหมายเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัว

ศรีลังกายอมถอยจากเป้าหมายการเป็นประเทศแรกของโลกที่ทำการเกษตรอินทรีย์เต็มตัวแล้ว ด้วยการยกเลิกคำสั่งห้ามใช้และนำเข้าปุ๋ยเคมี หลังจากถูกเกษตรกรประท้วงครั้งใหญ่และเกิดภาวะราคาอาหารเฟ้อสูงขึ้น

ฝนตกหนักในอินเดีย-ศรีลังกา เสียชีวิตเพิ่มเป็น 41 ราย

เจนไน/โคลัมโบ 11 พ.ย. – ฝนตกหนักในภาคใต้ของอินเดียและศรีลังกาทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 41 ราย ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคาดว่า ปริมาณน้ำฝนจะลดลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดียระบุว่า อินเดียจะมีปริมาณน้ำฝนในระดับน้อยถึงปานกลางในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคใต้ และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นครั้งคราวบนถนนและพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่ทางการศรีลังกาคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนจะลดลงตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำที่ทำให้เกิดสภาพอากาศย่ำแย่ได้พัดผ่านประเทศไปแล้ว ในขณะเดียวกัน ทางการศรีลังการายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 25 รายจากเหตุฝนตกหนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คนจากเหตุดินถล่ม ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงจัดการภัยพิบัติของรัฐทมิฬนาฑูในอินเดียระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 16 ราย หลายพื้นที่ของนครเจนไน ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐทมิฬนาฑูและเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ถูกน้ำท่วมหนักจนทำให้ทางการรัฐต้องนำเครื่องสูบน้ำมาใช้ระบายน้ำในบางชุมชนที่มีน้ำท่วมสูงระดับเอว ส่วนประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำได้ย้ายออกไปอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวแล้ว นอกจากนี้ ทางการยังสั่งปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนและวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงสั่งหยุดให้บริการรถไฟในบางเส้นทางชั่วคราว.-สำนักข่าวไทย

1 10 11 12 13 14 29
...