ยูเครนห้ามนำเข้าสินค้าทุกอย่างจากรัสเซีย

เคียฟ 10 เม.ย.- ยูเครนห้ามนำเข้าสินค้าทุกอย่างจากรัสเซีย พร้อมกับเรียกร้องประเทศอื่น ๆ ให้ทำตามและใช้มาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียให้รุนแรงยิ่งขึ้น นางยูลียา สวีรีเดนโก รัฐมนตรีเศรษฐกิจยูเครนโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันเสาร์ว่า ยูเครนขอประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องยุติการค้าสินค้ากับรัฐผู้รุกรานอย่างสิ้นเชิง และนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สินค้าของสหพันธรัฐรัสเซียจะไม่สามารถนำเข้ายูเครนได้อีกต่อไป งบประมาณของศัตรูจะไม่ได้รับเงินจากการนำเข้าดังกล่าวที่จะนำไปใช้สนับสนุนการทำสงคราม มาตรการของยูเครนสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่หุ้นส่วนชาติตะวันตกและกระตุ้นให้เข้มงวดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เช่นการคว่ำบาตรพลังงานและโดดเดี่ยวธนาคารรัสเซียทั้งหมด ทั้งนี้ก่อนหน้าที่รัสเซียจะเปิดฉากสงครามกับยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ยูเครนนำเข้าสินค้าจากรัสเซียปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 201,498 ล้านบาท) แต่หลังจากนั้นก็แทบไม่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันอีกเลย การประกาศเมื่อวานนี้เท่ากับประกาศให้การยุติการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย

“คูเลบา” ระบุการสังหารหมู่น่าจะเกิดขึ้นหลายเมือง

รมต.ต่างประเทศยูเครน เชื่อเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน ยังเกิดขึ้นในอีกหลายเมืองของยูเครนที่รัสเซียเข้าไปยึดครอง วอนนานาชาติเพิ่มความเข้มข้นคว่ำบาตรและยุติการค้าขายกับรัสเซีย

รัสเซียหาทางดึงคนเก่งกลับประเทศ

มอสโก 4 เม.ย.- รัสเซียกำลังศึกษาเรื่องให้แรงจูงใจพิเศษเพื่อดึงชาวรัสเซียที่มีทักษะสูงกลับบ้านเกิด หลังจากชาวรัสเซียที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามยูเครนและต้องการหลีกหนีผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกพากันอพยพออกนอกประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียเผยว่า ทางการกำลังหารือเรื่องการปรับปรุงโครงการกลับประเทศสำหรับผู้มีทักษะที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2560 และการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียที่เป็นบุคคลคุณภาพสูงให้กลับมาจากส่วนต่าง ๆ ของโลก กระทรวงไม่ได้แจกแจงในรายละเอียด แต่เผยเพียงว่า โครงการปัจจุบันครอบคลุมเรื่องเงินชดเชยสำหรับค่าใช้จ่ายในการย้ายกลับประเทศ สิทธิประโยชน์การว่างงานนาน 6 เดือน และมาตรการจูงใจทางการเงินอื่น ๆ อเล็กซานเดอร์ เซอร์เกเยฟ ประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์รัสเซียกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัสเซียประสบภาวะ “สมองไหล” ตั้งแต่ถูกชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรในปี 2557 หลังการผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครน และรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์อิซเวสติยาที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลว่า ผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียสนใจที่จะกลับประเทศเพราะเผชิญแรงกดดันขณะอยู่ในประเทศตะวันตก.-สำนักข่าวไทย

ชาวรัสเซียขาดแคลนยาตั้งแต่เริ่มสงครามยูเครน

มอสโก 4 เม.ย.- ชาวรัสเซียเผยว่า ยังคงขาดแคลนยารักษาโรคที่จำเป็น นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากถูกชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตร ข่าวเรื่องชาวรัสเซียไม่สามารถซื้อหายาบางชนิดจากร้านขายยาเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม กลุ่มปกป้องสิทธิผู้ป่วยในสาธารณรัฐดาเกสถาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียเผยว่า เริ่มได้รับเสียงร้องเรียนเรื่องขาดแคลนยาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม และเมื่อตรวจสอบกับร้านขายยาของรัฐหลายแห่งก็พบว่า ยา 10 รายการแรกที่คนต้องการใช้มากที่สุดขณะนี้เหลือปริมาณไม่มาก และไม่รู้ว่าจะมียาลอตใหม่มาเมื่อใด ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัสเซียระบุว่า การขาดแคลนยาเป็นสถานการณ์ชั่วคราว เพราะคนแห่ซื้อกักตุนและระบบโลจิติกส์มีปัญหาจากมาตรการคว่ำบาตร แต่ก็กังวลว่ายาคุณภาพสูงอาจหายไปจากตลาด นายมิคาอิล มูราชโก รัฐมนตรีสาธารณสุขรัสเซียยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่มีปัญหาขาดแคลนยา และโทษว่าการแห่ซื้อกักตุนทำให้ความต้องการยาบางชนิดเพิ่มขึ้น 10 เท่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ รัสเซียใช้นโยบายส่งเสริมการผลิตยาในประเทศทดแทนการนำเข้า ตั้งแต่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรในปี 2557 หลังจากผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครน ทำให้บริษัทต่างชาติไม่อยากนำเข้ายาคุณภาพสูงเพราะมีราคาแพง แต่ถูกควบคุมราคาจำหน่ายจนไม่มีกำไร.-สำนักข่าวไทย

ตอลิบานสั่งห้ามปลูกพืชเสพติด

คาบูล 3 เม.ย.- กลุ่มตอลิบานที่ปกครองอัฟกานิสถานประกาศในวันนี้ ห้ามการปลูกพืชที่ใช้ทำยาเสพติด กระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถานแถลงข่าววันนี้ว่า ไฮบาตุลเลาะห์ อาคุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดของเอมิเรตส์อิสลามอัฟกานิสถานมีคำสั่งถึงชาวอัฟกันทุกคนว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปห้ามการปลูกต้นฝิ่นทั่วประเทศอย่างเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกทำลายต้นฝิ่นที่ปลูกไว้โดยทันที และถูกดำเนินการตามกฎหมายชารีอะห์ของศาสนาอิสลาม นอกจากห้ามปลูกต้นฝิ่นแล้ว คำสั่งนี้ยังห้ามผลิต ใช้ หรือขนส่งยาเสพติดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ตอลิบานเคยห้ามปลูกต้นฝิ่นในช่วงท้ายของการปกครองอัฟกานิสถานครั้งก่อน หวังให้ประชาคมโลกยอมรับ แต่ถูกประชาชนต่อต้านและต้องเปลี่ยนนโยบายในที่สุด ส่วนการกลับมาปกครองอัฟกานิสถานอีกครั้งตั้งแต่บุกยึดกรุงคาบูลได้ในเดือนสิงหาคม 2564 ตอลิบานต้องการได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ การธนาคาร และการพัฒนาประเทศ ประชาคมโลกยื่นข้อเรียกร้องต่อตอลิบานหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการควบคุมยาเสพติดให้ได้ แหล่งข่าวในตอลิบานยอมรับว่า จะถูกประชาชนบางภาคส่วนต่อต้านคำสั่งนี้อย่างหนัก เนื่องจากช่วงหลายเดือนมานี้มีเกษตรกรหันมาปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะคนในจังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้ เพราะสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ สหประชาชาติประเมินว่า อัฟกานิสถานเคยผลิตฝิ่นมูลค่าถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 46,918 ล้านบาท) ในช่วงที่มีการปลูกมากที่สุดในปี 2560.-สำนักข่าวไทย

จีนระบุไม่ได้ตั้งใจหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการลงโทษรัสเซีย

นักการทูตระดับสูงของจีนกล่าววันนี้ว่า จีนไม่ได้ตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการลงโทษรัสเซียแต่อย่างใด โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่สหภาพยุโรปเตือนรัฐบาลปักกิ่งว่า อย่าปล่อยให้รัสเซียสามารถหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่ประกาศใช้หลังรัสเซียใช้กำลังบุกยูเครน

รัสเซียว่าความร่วมมือด้านอวกาศจะเกิดขึ้นเมื่อเลิกลงโทษ

นายดิมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการองค์การด้านอวกาศ “รอสคอสมอส” ของรัสเซียกล่าววันนี้ว่า การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันท์ปกติระหว่างหุ้นส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ไอเอสเอสและโครงการร่วมด้าอวกาศอื่น ๆ จะกลับมาเป็นไปได้อีกครั้งเมื่อชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการลงโทษรัสเซียแล้วเท่านั้น

สหรัฐเล็งปล่อยน้ำมันสำรองครั้งใหญ่ที่สุด

วอชิงตัน 31 มี.ค.- แหล่งข่าวหลายแหล่งในสหรัฐเผยตรงกันว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาเรื่องปล่อยน้ำมันจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์หรือเอสพีอาร์ (SPR) สูงสุด 180 ล้านบาร์เรลในช่วงหลายเดือนข้างหน้า หวังดึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้ลดลง ทำเนียบขาวเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะแถลงเรื่องมาตรการของสหรัฐในเวลา 17:30 น.วันนี้ตามเวลามาตรฐานสากล ก่อนที่สมาชิกสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ (IEA) จะประชุมเรื่องการปล่อยน้ำมันสำรองร่วมกันในเวลา 12:00 น.วันศุกร์ตามเวลามาตรฐานสากล หรือ 19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย แหล่งข่าวเผยว่า รัฐบาลไบเดนกำลังพิจารณาเรื่องปล่อยน้ำมันสำรองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งเอสพีอาร์เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ซึ่งจะเทียบเท่ากับปริมาณน้ำมันที่ใช้ทั้งโลกเป็นเวลา 2 วัน และจะเป็นการปล่อยน้ำมันสำรองของสหรัฐครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน กระทรวงพลังงานสหรัฐเผยว่า ปัจจุบันเอสพีอาร์มีน้ำมันอยู่ 568.3 ล้านบาร์เรล น้อยที่สุดนับจากเดือนพฤษภาคม 2543 ข่าวนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงกว่าบาร์เรลละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือของอังกฤษที่เคยทะยานขึ้นไปแตะบาร์เรลละ 139 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อต้นเดือนมีนาคม สูงที่สุดนับจากปี 2551 ได้ลดลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่า 108 ดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายที่ตลาดเอเชียเช้าวันนี้ ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นมาตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ […]

สหรัฐจะลงโทษบริษัทรัสเซียที่จัดหาเทคโนโลยีให้กองทัพ

หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ออกในสหรัฐรายงานวานนี้ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กำลังวางแผนลงโทษโดยมีเป้าหมายที่บริษัทของรัสเซียที่จัดหาสินค้าและบริการให้แก่กองทัพและหน่วยข่าวกรองของรัสเซีย

รัฐบาลอังกฤษ ผ่อนปรนให้ “เชลซี” ขายตั๋ว

รัฐบาลอังกฤษ ผ่อนปรนให้สโมสรเชลซี กลับมาขายบัตรเข้าชมการแข่งขันได้อีกครั้ง แต่อนุญาตให้ขายได้เฉพาะในเกมนัดเยือน, เกมฟุตบอลถ้วย และในทีมฟุตบอลหญิงเท่านั้น

อินเดียแจงเรื่องนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

นิวเดลี 19 มี.ค.- เจ้าหน้าที่อินเดียชี้แจงเรื่องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศว่า อินเดียจะนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ในปีนี้ หลังจากถูกวิจารณ์เรื่องนำเข้าจากรัสเซียที่ถูกหลายประเทศคว่ำบาตรเพราะรุกรานยูเครน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียที่ขอสงวนนามชี้แจงกับรอยเตอร์ว่า อินเดียนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางมากที่สุด ประกอบด้วยอิรักร้อยละ 23 ซาอุดีอาระเบียร้อยละ 18 และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 11 ส่วนสหรัฐนั้น อินเดียนำเข้ามากเป็นอันดับ 4 โดยในปีนี้จะนำเข้าเพิ่มอีกร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 8 ขณะที่รัสเซียครองส่วนแบ่งน้อยในตลาดน้ำมันอินเดีย แต่หลังจากรุกรานยูเครน รัสเซียได้เสนอขายน้ำมันแบบมีส่วนลดเพื่อลดผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตร อินเดียนออยล์คอร์ปที่เป็นโรงกลั่นอันดับหนึ่งของอินเดียเพิ่งสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซีย 3 ล้านบาร์เรลผ่านการประมูล และฮินดูสถานปิโตรเลียมคอร์ปสั่งจอง 2 ล้านบาร์เรลให้ส่งมอบเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียอีกคนกล่าวว่า อินเดียพร้อมรับข้อเสนอที่มีการแข่งขันจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ราคาน้ำมันโลกทะยานขึ้น จนทำให้อัตราเงินเฟ้ออินเดียสูงขึ้น ฐานะการคลังตึงตัว และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เจ้าหน้าที่อินเดียกล่าวด้วยว่า แม้แต่ยุโรปเองก็ยังนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียอยู่ มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และไม่ตัดธนาคารรัสเซียที่ทำธุรรรมด้านนี้ออกจากสมาคมโทรเลขทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกหรือสวิฟต์ (SWIFT) ดังนั้นการทำธุรกรรมด้านพลังงานที่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ควรถูกนำมาเป็นเรื่องทางการเมือง.-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นประกาศมาตรการลงโทษ จนท.รัสเซีย

ญี่ปุ่นกล่าววันนี้ว่า จะใช้มาตรการลงโทษบุคคลชาวรัสเซีย 15 คนและองค์กรอีก 9 แห่ง ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมและ โรโซโบรอนเอ็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) บริษัทส่งออกอาวุธของรัฐบาลรัสเซีย

1 6 7 8 9 10 32
...