21 พฤษภาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Factcheck.org / Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- เป็นการบิดเบือนงานวิจัยของผู้สนับสนุนการใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19
- งานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันไม่พบว่ายา Ivermectin มีประโยชน์ต่อการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Youtube ในสหรัฐอเมริกา โดย จอห์น แคมป์เบล อดีตพยาบาลเวชปฏิบัติชาวอังกฤษ ผู้ผันตัวมาเป็น Youtuber ด้านสุขภาพจนมีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน อ้างผลวิจัยว่า ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin มีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ดีกว่ายาต้านไวรัส Remdesivir ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้การรับรองถึง 70% จนคลิปวิดีโอดังกล่าวทำยอดวิวก่อนถูกลบไปถึง 770,000 วิว และมีการแชร์ไปแล้วกว่า 10,000 ครั้ง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
คลิปวิดีโอที่ จอห์น แคมป์เบล อัพโหลดเมื่อวันที่ 6 มีนาคมปี 2022 เป็นการวิเคราะห์บทคัดย่องานวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Miami ที่นำเสนอผลการศึกษาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021
ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ของชาวอเมริกันระหว่างวันที่ 1 มกราคมปี 2020 ถึง 11 กรกฎาคมปี 2021 โดยผู้ป่วยจำนวน 41,608 รายถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่รักษาตัวด้วยยาต้านไวรัส Remdesivir จำนวน 40,536 ราย และกลุ่มที่รักษาตัวด้วยยา Ivermectin จำนวน 1,072 ราย
การศึกษาพบว่ายา Ivermectin มีความสัมพันธ์ต่อการลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่ายาต้านไวรัส Remdesivir โดยมีอัตราส่วนอ๊อดส์ (odds ratio) อยู่ที่ 0.308
จอห์น แคมป์เบล จึงทำการสรุปในคลิปวิดีโอว่า การใช้ยา Ivermectin ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดีกว่ายาต้านไวรัส Remdesivir ที่ 70%
อย่างไรก็ดี ดร.โฮเซ กอนซาเลส ซาโมรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัย University of Miami และผู้ร่วมวิจัยในการศึกษาที่ จอห์น แคมป์เบล กล่าวอ้าง ยืนยันว่าผลวิจัยไม่อาจบอกได้ว่า ยา Ivermectin ช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 รอดชีวิตมากกว่าการใช้ยาต้านไวรัส Remdesivir ที่ 70% เหมือนที่ จอห์น แคมป์เบล กล่าวอ้าง
ซาโมราให้เหตุผลว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเบื้องต้นและเป็นแค่การศึกษาแบบเฝ้าสังเกตการณ์ แม้พบว่ายา Ivermectin มีความสัมพันธ์ (Association) กับการลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า การใช้ยา Ivermectin คือสาเหตุ (Causation) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 รอดชีวิต
ซาโมราย้ำว่า ยังมีตัวแปรอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณา ปัจจัยแรกคือ กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตัวด้วยยา Ivermectin มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มที่รักษาตัวด้วยยา Remdesivir ถึง 10 ปี ทำให้กลุ่มที่รักษาตัวด้วยยา Ivermectin มีโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่า
นิโคลัส มาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดและแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล Swedish Medical Center ในเมืองซีแอตเติล อธิบายว่ายา Ivermectin มักจะใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ระยะเริ่มต้นและยังไม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนยา Remdesivir จะใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีอาการหนัก จึงเป็นไปได้สูงที่กลุ่มคนไข้ที่รักษาตัวด้วยยา Remdesivir จะป่วยหนักมากกว่าและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มคนไข้ที่ใช้ยา Ivermectin
ซาโมราย้ำว่างานวิจัยของเขาและทีมงานไม่ได้ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนประโยชน์ของการใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพราะทีมงานของเขาหรือโรงพยาบาลที่เขาสังกัด ต่างไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้รักษาผู้ป่วยโควิด-19
นอกจากนี้ บทสรุปงานวิจัยที่ จอห์น แคมป์เบล เลี่ยงที่จะกล่าวถึง คือการย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยในเชิงลึกในอนาคต เพื่อยืนยันหรือหักล้างประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยา Ivermectin ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้รับการ peer-reviewed หรือการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ และได้ยุติโครงการวิจัยไปแล้ว โดยซาโมราชี้แจงผ่านทาง Twitter ว่า ไม่มีเหตุผลที่จะทำการศึกษาต่อเพราะงานวิจัยที่ใช้การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่น่าเชื่อถือหลายชิ้นต่างยืนยันว่า Ivermectin ไม่มีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ภายหลัง จอห์น แคมป์เบล ได้ลบคลิปดังกล่าว ก่อนทำการอัพโหลดคลิปวิดีโอตัวใหม่เพื่อสนับสนุนการใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2022
โดยคลิปตัวล่าสุด เป็นการอ้างงานวิจัยของ ดร.ปีแอร์ คอรี และกลุ่ม Front Line COVID-19 Critical Care Alliance ซึ่งสนับสนุนการใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ เนื้อหากล่าวถึงผลการวิจัยในเมืองอิตาไชอิของประเทศบราซิลซึ่งพบว่า การใช้ยา Ivermectin ลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 50%, ลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 ได้ถึง 67% และลดการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ถึง 70%
อย่างไรก็ดี งานวิจัยของดร.ปีแอร์ คอรี สร้างเสียงวิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสตั้งแต่ก่อนการตีพิมพ์ ทั้งปัญหาด้านการติดตามการใช้ยาในกลุ่มตัวอย่าง, ไม่มีการพิจารณาผลกระทบจากตัวแปรกวน และพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้วิจัยและบริษัทผู้ผลิตยา Ivermectin
งานวิจัยของ ดร.ปีแอร์ คอรี ได้รับการเผยแพร่ทางวารสารงานวิจัย Cureus เมื่อวันที่ 15 มกราคมปี 2022 ซึ่งถือเป็นวารสารที่เปิดให้ผู้วิจัยนำผลงานมาเผยแพร่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในระยะเวลาที่สั้นกว่าวารสาร peer-reviewed เจ้าอื่นๆ
การตื่นตัวต่อยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้นักวิทยาศาสตร์นำยา Ivermectin มาศึกษาประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างแพร่หลาย
หนึ่งในงานวิจัยชิ้นล่าสุด คืองานวิจัยที่ใช้การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่น่าเชื่อถือจากประเทศมาเลเซีย และได้รับการเผยแพร่ทางวารสารงานวิจัย JAMA Internal Medicine เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ปี 2022 ผู้วิจัยพบว่า การใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระยะเริ่มต้นจำนวน 490 คน ไม่พบว่าตัวยามีประโยชน์ในการป้องกันการป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด-19 และพบว่า 21.6% ของคนไข้กลุ่มที่ใช้ยา Ivermectin ลงเอยด้วยการป่วยหนักจากโควิด-19 แต่คนไข้ในกลุ่มควบคุมที่ไม่ใช้ยา Ivermectin มีอัตราการป่วยหนักจากโควิด-19 เพียง 17.3% เท่านั้น
ดร.สตีเวน ชี ลูน ลิม แพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาล Raja Permaisuri Bainun Hospital ในมาเลเซีย และผู้ร่วมวิจัยชิ้นนี้ ชี้แจงว่าการศึกษาของตนพิสูจน์คือการว่า Ivermectin ไม่ใช่ยาวิเศษเหมือนที่ผู้คนกล่าวอ้าง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที การหลงเชื่อข้อมูลเท็จแล้วตัดสินใจรักษาตัวเองด้วยยาที่ไร้ประสิทธิผล จะทำให้การรักษาเป็นไปอย่างล่าช้าและอาการป่วยจะรุนแรงยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.factcheck.org/2022/03/scicheck-evidence-still-lacking-to-support-ivermectin-as-treatment-for-covid-19/
https://healthfeedback.org/claimreview/ivermectin-wasnt-shown-more-effective-than-remdesivir-contrary-to-claim-by-john-campbell/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter