6 กันยายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- เป็นการบิดเบือนตัวเลขเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากวัคซีนให้เกินจริง
- ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการแท้งทั้งหมดเป็นผลจากวัคซีน
- งานวิจัยในหลายประเทศยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข่าวปลอมเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาผ่าน Instagram ของ แชนนอน โครเนอร์ นักจิตวิทยาคลินิก ที่อ้างว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นสาเหตุให้สตรีมีครรภ์ในสหราชอาณาจักรแท้งลูก 920 ครั้ง และสตรีมีครรภ์ในสหรัฐอเมริกาแท้งลูก 571 ครั้ง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
แหล่งข้อมูลที่ แชนนอน โครเนอร์ ใช้ในการกล่าวอ้าง มาจาก True Defender เว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด, วิทยาศาสตร์ปลอม และการรายงานข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
ข้อมูลใน Instagram อ้างอิงตัวเลขการแท้งลูกจาก Yellow Card และ VAERS ซึ่งเป็นระบบรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากวัคซีนในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าจำนวนการแท้งลูกที่กล่าวอ้างไม่ตรงกับรายงานทั้งจาก Yellow Card และ VAERS
ข้อมูลของ Yellow Card ระบุว่า ระหว่างรวบรวมข้อมูลช่วงเดือนธันวาคม 2020 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 มีการแจ้งเหตุแท้งลูกหลังรับวัคซีนโควิด 19 ในสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น 178 ครั้ง ไม่ใช่ 920 ครั้งตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนข้อมูลของ VAERS พบการแจ้งเหตุแท้งลูกหลังรับวัคซีนโควิด 19 ในสหรัฐอเมริการวม 395 ครั้ง ไม่ใช่ 571 ตามที่กล่าวอ้างเช่นกัน
รายงานอาการข้างเคียงจากวัคซีนโควิด 19 ที่รวบรวมโดย Yellow Card และ VAERS ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสาเหตุจากวัคซีนโควิด 19 ทั้งหมด เนื่องจากเป็นรายงานที่ผู้รับวัคซีนสามารถแจ้งอาการข้างเคียงได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนหรือไม่
หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันว่า รายงานอาการข้างเคียงเบื้องต้นเหล่านี้ ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์และทารกในครรภ์
หลายประเทศเริ่มจัดให้สตรีมีครรภ์อยู่ในกลุ่มประชากรที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เป็นอันดับต้นๆ หลังพบว่าสตรีมีครรภ์เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด 19
จากการเก็บสถิติของ CDC ระหว่างเดือนมกราคม 2020 ถึง ตุลาคม 2020 พบว่า ในบรรดาผู้หญิงที่ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 400,000 คน มีอยู่ 5.7% ที่เป็นผู้ติดเชื้อที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 มีความเสี่ยงต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องฉุกเฉิน, ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงทั่วไป
สาเหตุที่สตรีมีครรภ์ไม่ได้รับการแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในระยะแรก เนื่องจากไม่มีสตรีมีครรภ์ร่วมทดลองวัคซีนโควิด 19 ทำให้ไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของสตรีมีครรภ์ที่เพียงพอ
กระทั่งผลวิจัยเบื้องต้นในกลุ่มสตรีมีครรภ์จำนวน 3,900 คนที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนเมษายน 2021 ยืนยันว่าไม่พบปัญหาด้านความปลอดภัยกับสตรีมีครรภ์ที่รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ทำให้ CDC เริ่มแนะนำให้ผู้หญิงที่เตรียมตัวจะมีบุตรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ในที่สุด
มีหลายประเทศที่เริ่มแนะนำให้สตรีมีครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั้งสหราชอาณาจักร, เบลเยี่ยม, อิสราเอล โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐเซา เปาโลของประเทศบราซิล ประกาศให้สตรีมีครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกคน
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter