ชัวร์ก่อนแชร์:เปิดไทม์ไลน์“หมอพร้อม”ทำไมคิวแรกต้อง“กลุ่มผู้สูงอายุ-7โรคเรื้อรัง”

28 เมษายน 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์


ในวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อเดินหน้าการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วย 7 โรคเรื้อรังเป็นคิวแรกในเดือนมิ.ย.-ก.ค. 64 ผ่านการจองคิวรับวัคซีนในระบบ “ไลน์หมอพร้อม” โดยมีผู้ที่มีคุณสมบัติในการรับวัคซีนในครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 16 ล้านคน

ทำไมกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยด้วย 7 โรคเรื้อรังถึงมีสิทธิได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่น และผู้ที่จะได้รับวัคซีนในลำดับถัดไปคือกลุ่มไหน แผนการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายจะทำได้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ “ชัวร์ก่อนแชร์”


Q : 1 พ.ค.นี้ ลงทะเบียน “ผ่านไลน์หมอพร้อม” นัดฉีดวัคซีนโควิด19 คิวแรกกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง
A : ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 64 กลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนมีจำนวนทั้งสิ้น 16 ล้านคน จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรค ส่วนประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 16 ล้านคน ก็จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่จะเข้ามาในลำดับต่อไปจนถึงเดือนธ.ค. กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยด้วย 7 โรคเรื้อรังจะได้รับวัคซีนล็อตแรกจากบริษัทแอสตาเซเนกา ซึ่งในเดือนมิ.ย.จะได้รับ 6 ล้านคน เดือนก.ค. จะได้รับ 10 ล้านคน โดยมี “Line OA หมอพร้อม” เป็นช่องทางในการเข้าถึงการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อรองรับการเป็น National Health Platform

Q : ทำไมถึงต้องให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 โรคเป็นผู้ได้รับวัคซีนก่อน
A : นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เหตุผลที่ให้ 2 กลุ่มนี้ก่อน เพราะข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ผ่านมา ทุกรายที่เสียชีวิตมีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งวัคซีนจะมีส่วนช่วยในการลดการเสียชีวิต ลดการรักษาในโรงพยาบาล โดย 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลก่อน เพื่อลดการสูญเสียและไม่ให้เกิดภาวะการเจ็บหนัก

Q : ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังประกอบด้วยโรคอะไรบ้าง
A : 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง,โรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี
2.โรคหัวใจและหลอดเลือด
3.โรคไตวายเรื้อรัง
4.โรคหลอดเลือดสมอง
5.โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
6.โรคเบาหวาน
7.โรคอ้วน


Q : กระทรวงสาธารณสุขแบ่งกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนไว้อย่างไร
A : นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับวัคซีนแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 1.2 ล้านคน 2. บุคลากรด่านหน้าจำนวน 1.8 ล้านคน ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ จะได้รับวัคซีนครบถ้วนภายในเดือนพ.ค. 3. กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวน 4.3 ล้านคน 4.กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.7 ล้านคน โดยกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะได้รับวัคซีนในเดือนมิ.ย. และ เดือน ก.ค. 5.กลุ่มที่มีอายุ 18 ปี ถึง 59 ปี จะได้รับการฉีดวัคซีนในเดือนส.ค.และเดือน ก.ย. โดยเปิดการจองฉีดวัคซีนในเดือนก.ค.
ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรด่านหน้า ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงสิ้นเดือนพ.ค.นี้
ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรคนั้น ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้นำรายชื่อของผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเข้ามาในระบบ ไลน์หมอพร้อม เพื่อให้สามารถทำการลงทะเบียนจองรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป
ระยะที่ 3 ประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน จะเปิดให้จองคิวเพื่อรับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป และจะฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป

Q : อยากเป็นเพื่อนกับ “หมอพร้อม” ต้องทำอย่างไร
A : สามารถ Add Friend ใน LINE Application โดยการค้นหาคำว่า “หมอพร้อม” จากนั้นกรอกเลขบัตรประจําตัวประชาชนเพื่อทำการจองรับวัคซีน โดยข้อมูลที่ภาครัฐได้รับ จะนำมาใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลในฐานประชากรเป็นหลัก หากตรงกับกลุ่มที่จะได้รับวัคซีน 16 ล้านคน ก็จะสามารถดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปได้ นอกจากนี้ ไลน์หมอพร้อม ยังสามารถจองคิวให้บุคคลในครอบครัวได้ไม่จำกัด รวมถึงเปลี่ยนแปลงวัน เวลา สถานที่ ในการจองได้

สำหรับผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์สามารถจองการรับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือโทรศัพท์มาจองการรับวัคซีน กับ อสม. , โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ได้

รับชมคลิปวิดีโอ การใช้ Line หมอพร้อม ที่นี่

Q : ถ้าไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยเรื้อรัง จะมีชื่อใน “ไลน์หมอพร้อม” หรือไม่
A : ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านสาธารณสุข ระบุว่า หากท่านถ้าไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย 16 ล้านคนก็จะไม่เจอชื่อในระบบ เพราะเราจะใส่เฉพาะชื่อของผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังที่มีสิทธิได้รับวัคซีนในรอบนี้ ไว้ในระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากรายชื่อตกหล่นในระบบไลน์หมอพร้อม สามารถแจ้งชื่อท่านในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ สำหรับการเตรียมระบบเพื่อรองรับผู้เข้าใช้ “ไลน์หมอพร้อม” ในวันที่ 1 พ.ค.นั้น ทางเราได้เตรียมระบบรองรับไว้ 5 เท่า โดยประมาณการว่าในวันแรกจะมีผู้เข้าใช้ระบบจำนวน 20,000 คนต่อวินาที แต่หากเกินความคาดหมายก็จะมีระบบคลาวด์รองรับ และตัดฟังก์ชันที่ไม่จำเป็นออกไปก่อนเพื่อให้ระบบดำเนินการได้เร็วขึ้น

Q : การจองวัคซีนผ่าน “ไลน์หมอพร้อม” ทำได้เฉพาะวันที่ 1 พ.ค. ใช่หรือไม่
A : ดร.นพ.พงศธร ชี้แจงว่า ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อจองรับวัคซีนเฉพาะวันที่ 1 พ.ค. สามารถดำเนินการในวันอื่นๆ ได้ และถ้าไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านไลน์หมอพร้อม ก็สามารถแจ้งการรับวัคซีนได้กับ อสม. หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านได้

Q : ไขข้อสงสัยเมื่อชื่อที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ตรงกับจังหวัดที่พักอาศัยอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถรับวัคซีนในจังหวัดที่พักอาศัยอยู่ ณ ปัจจุบันได้หรือไม่
A : ดร.นพ.พงศธร  ระบุว่า หากท่านเคยใช้บริการที่โรงพยาบาลใดในจังหวัดที่ท่านพักอาศัยอยู่ ก็จะมีชื่อโรงพยาบาลนั้นขึ้นอยู่ในระบบ และหากไปรับบริการกับ 3 โรงพยาบาลในจังหวัดที่ท่านพักอาศัยอยู่ก็จะมีชื่อขึ้นทั้ง 3 โรงพยาบาล หากเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยรับการรักษาในกรุงเทพฯ ระบบจะเปิดให้ท่านสามารถเลือกใช้บริการรับวัคซีนที่จุดฉีดสนามได้ แต่หากมีการย้ายที่พักอาศัยกะทันหัน ให้ท่านไปแจ้งชื่อกับโรงพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ทำระบบให้เลือกว่าท่านอยากไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาลใด เพราะอาจจะเกิดปัญหาการเลือกใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลใด โรงพยาบาลหนึ่งเป็นจำนวนมากได้

Q : วัคซีนจะมีเพียงพอสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังหรือไม่
A : ดร.นพ.พงศธร  กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับทุกคนในระยะ 2 เดือนนี้ เพราะอาจจะมีผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ยังยังไม่พร้อมจะรับวัคซีนในขณะนี้

Q : ถ้าผู้สมัครใจฉีดวัคซีนน้อยกว่า 16 ล้านคน จะเปิดบริการให้กลุ่มอื่นๆ ได้รับวัคซีนหรือไม่ เพื่อที่กลุ่มอื่นๆ จะได้ไม่ต้องรอการฉีดวัคซีนในเดือนส.ค.
A : นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น และความจำเป็นที่จะได้รับในแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถจัดสรรวัคซีนเพิ่มได้ในช่วงนี้ ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ที่จะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นได้ เช่น วัคซีนบางชนิดเหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หรือวัคซีนบางชนิดเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปี ถึง 18 ปี ก็จะสามารถเสริมเข้าไปได้

Q : หากเคยได้รับเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ควรฉีดวัคซีนหรือไม่
A : นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อ 1 ครั้งจะมีแอนติบอดี้เกิดขึ้น แต่ไม่สูงมากพอที่จะป้องกันโรคได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีน 1 เข็มหลังจากที่หายป่วยแล้วประมาณ 1 ถึง 3 เดือน เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น และป้องกันการติดเชื้อใหม่

Q : วัตถุประสงค์ของการรับวัคซีน
A : นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนว่า 1. เพื่อคงระบบสาธารณสุขให้เดินหน้าได้ 2.ฉีดเพื่อลดการป่วยการเสียชีวิต 3.ฉีดเพื่อให้เดินหน้าเศรษฐกิจได้ โดยการฉีดวัคซีนจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มอายุ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง หลังจากฉีดกลุ่มนี้เสร็จก็จะเป็นประชาชนกลุ่มอื่นๆ อีก 30 ล้านคน กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม Setting กลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น กลุ่มครู แม่ค้าตลาดสด ผู้ให้บริการสาธารณะ โรงแรม ผู้ให้บริการขับรถสาธารณะ ท่าอากาศยาน ทหาร หรือตำรวจ กลุ่มที่ 3 กลุ่มพื้นที่ พื้นที่มีการระบาดจำนวนมาก เช่น กทม. ปริมณฑลในช่วงนี้ พื้นที่เศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาล เรามอง 3 มิติตามวัตถุประสงค์ 3 ข้อและตามวัคซีนที่มีมาในแต่ละช่วง ซึ่งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ก็จะฉีดให้ครบในกลุ่มผู้สูงอายุ และ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค

Q : “สธ.” ชี้ ฉีดวัคซีนครบ 50 ล้านคน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันภายในประเทศได้
A : นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากประชาชนได้รับวัคซีน 50 ล้านคน หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ก็จะสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันภายในประเทศได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันว่าผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน จะต้องได้รับวัคซีนทุกคน

Q : ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนเดือนละ 10 ล้านโดสจนถึงสิ้นปี
A : นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเดือนละ 10 ล้านโดส หรือวันละ 300,000 โดสขึ้นไปเพื่อให้ครอบคลุมถึงสิ้นปี 64 โดยสาธารณสุขมีหน่วยงานที่จะฉีดวัคซีนถึง 1,173 แห่ง หนึ่งแห่งอาจมีมากกว่า 1 หน่วย เช่น นอกจากฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลแล้ว ก็จะมีการฉีดนอกพื้นที่โรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา ศาลาประชาคม หรือห้างสรรพสินค้าที่เปิดพื้นที่ให้ฉีดวัคซีนได้

เปิดแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19
A : นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนตั้งใจที่จะส่งมอบวัคซีนให้ได้ตามแผนคือ 6 ล้านโดสในเดือนมิ.ย. สำหรับการจัดส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ จะเริ่มในปลายเดือนพ.ค. โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยจัดส่งวัคซีนไปแล้วในช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย.  ซึ่งหากมีการวางแผนการจัดส่งที่ดี ก็จะสามารถจัดส่งไปถึงโรงพยาบาลได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยการจัดส่งวัคซีนต้องอยู่ภายใต้ระบบความเย็นในอุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส

Q : หลักเกณฑ์ในการกระจายวัคซีน
A : “วัคซีน covid19 ยังเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อการควบคุมโรค ดังนั้นจังหวัดที่ยังมีการระบาดของโรคอยู่ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนในสัดส่วนที่มากกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมต่อการระบาดในพื้นที่ ส่วนจังหวัดที่มีการระบาดน้อยจะได้รับการจัดสรรวัคซีนในสัดส่วนที่ลดหลั่นลงมา ซึ่งการจัดสรรวัคซีนได้ดูจากการสำรวจที่มีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานดำเนินการสำรวจประชากรกลุ่มเป้าหมาย เมื่อรวมกับระบบการจองวัคซีนผ่านไลน์หมอพร้อม ก็จะมีความแม่นยำในการจัดส่งวัคซีนให้เพียงพอกับกลุ่มประชากรที่ต้องการรับวัคซีนในแต่ละช่วงเวลา” นพ.โสภณ กล่าว

Q : แอสตาเซเนกา 1 ขวด ใช้ได้กี่โดส
A : รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า วัคซีนแอสตาเซนากา 1 ขวด ใช้ได้ 10 โดส โดยกรมควบคุมโรคจะจัดหาไซริงค์ที่มีความเหมาะสมกับการใช้วัคซีน ซึ่งหากได้ไซริงค์ที่เหมาะสมจะสามารถใช้วัคซีนได้มากกว่า 10 โดสต่อขวด อาจจะถึง 11-12 โดส

Q : การเตรียมทีมเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนภายหลังการได้รับวัคซีน
A : นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีคณะผู้เชี่ยววชาญทางด้านวัคซีน โรคสมอง โรคหลอดเลือด เพื่อให้คำแนะนำในกรณีที่ผู้รับวัคซีนเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการได้รับวัคซีน ต้องให้กรรมการได้พิจารณาโดยเร็วว่าเป็นผลมาจากการรับวัคซีนหรือไม่ บ่อยครั้งพบว่าไม่ได้มาจากการรับวัคซีน แต่มาจากอุบัติการณ์ร่วม หรือ Co-incident และหากกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนก็จะมีการหยุดเพื่อประเมินความเสี่ยง และจะดำเนินการฉีดวัคซีนอีกครั้งต่อเมื่อพบว่าสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

Update ข้อมูล ลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีน หมอพร้อม รอบแรกต้องรู้อะไรบ้าง?
ที่มา: กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 64)

Q: ใครลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนในรอบแรกนี้ได้บ้าง?
(A)ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ 1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคไตวายเรื้อรัง 4. โรคหลอดเลือดสมอง 5. โรคอ้วน 6. โรคมะเร็ง 7. โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19

Q: ลงทะเบียนรอบแรกนี้แล้วจะได้ฉีดเมื่อไหร่?
(A)สำหรับรอบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังนี้ จะเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจะเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นไป

Q: ต้องรีบจองไหม?
(A)ในการรับวัคซีนรอบแรกนี้ (มิ.ย. – ก.ค. 64) มีวัคซีนของ AstraZeneca ที่จัดหาไว้ทั้งสิ้น 16 ล้านโดส ซึ่งจะครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มแรกของกลุ่มประชากรเป้าหมายในรอบนี้ที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมเป้าหมายทั้งสิ้นที่ 50 ล้านคน (70% ของประชากร) ภายในสิ้นปีนี้

Q: แล้วรอบประชาชนทั่วไปจะเป็นเมื่อไหร่?
(A)ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และจะเริ่มเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

Q: จองคิวรับวัคซีนได้ช่องทางไหนบ้าง?
(A)1. LINE OA หมอพร้อม 2. โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา 3. อสม. หรือ รพ.สต. ในพื้นที่

Q: รายชื่อผู้ได้รับสิทธิ์ในรอบแรกนี้มาจากไหน?
(A)รายชื่อผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยคัดกรองจากประวัติการรักษา

Q: ถ้ารายชื่อตกหล่นต้องทำอย่างไร?
(A)ถ้าพบว่ารายชื่อตกหล่น ให้แจ้งไปที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา เพื่อนำรายชื่อเข้าระบบหมอพร้อม

Q: ลงทะเบียนแล้วรับวัคซีนได้ที่ไหนบ้าง
(A)สามารถเลือกสถานที่รับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา โรงพยาบาลภูมิลำเนา หรือศูนย์ฉีดวัคซีนสนาม

Q: รับวัคซีนแล้ว กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติก่อน New Normal ได้เลยไหม
(A)เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ร่างกายจะได้รับการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาหลังจากรับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งยังคงมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วเกิดอาการป่วยได้ แต่จะลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตลง จึงขอแนะนำให้ทุกท่านยังคงใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ จนกว่าจะมีประกาศจากทางกระทรวงสาธารณสุข

Q: เมื่อจองคิวสำเร็จแล้ว ต้องการเปลี่ยนการจองใหม่หรือยกเลิกการจองทำได้หรือไม่ อย่างไร
(A) 1.สามารถเปลี่ยนการจองได้ผ่านแอปพลิเคชัน และไลน์แอปพลิเคชันหมอพร้อม
2. หากต้องการยกเลิกการจอง กรุณาแจ้งยกเลิกที่รพ.ที่จองไว้โดยตรง

Q: ทำไมการจองบน หมอพร้อม APP ขึ้นว่า วันนี้โรงพยาบาลยังไม่เปิดให้จองการฉีดวัคซีน?
(A) รพ.สามารถเลือกเปิดให้จองคิวตามความพร้อมของ รพ.ได้ เช่น บาง รพ. จะเปิดให้จองเฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์

Q: ทำไมการจองบน LINE OA หมอพร้อม ขึ้นว่า หน่วยให้บริการกำหนดให้จองเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของหน่วยให้บริการเท่านั้น
(A) รพ. กำหนดให้จองเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น วันที่ 20 มิ.ย.64 รพ.A กำหนดให้จองได้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จะจองไม่ได้

Q: ไม่สามารถเลือก รพ. เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนได้
(A) 1. วันที่เปิดให้จองอยู่ในช่วง 7 มิ.ย.-31 ก.ค.64 หากเลือกช่วงอื่นๆจะไม่พบ
2. กรณี รพ. ทั้งหมดใน APP ไม่เปิดให้จอง กรุณาทำผ่าน LINE OA จะสามารถเลือกได้ทุกจังหวัด
3. รพ. จะเป็นผู้กำหนดวันที่เปิดให้จอง หาก รพ. ที่ท่านต้องการจองไม่เปิด กรุณาเลือก รพ.อื่น
4. บาง รพ. กำหนดให้จองได้เฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ รพ.เท่านั้น

อัปเดต ศบค.แถลงชะลอลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านระบบ”หมอพร้อม” (วันที่ 26 พ.ค.64)
รายละเอียดเพิ่มเติม : ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET ทำไม ศบค. ต้องชะลอลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบ“หมอพร้อม”? https://tna.mcot.net/sureandshare-704598

ข้อมูลอ้างอิง
รับชม VTR : 16 ล้านโดส เพื่อ 16 ล้านคน ผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จองคิวฉีด 1 พ.ค. นี้
1 พ.ค.นี้ ลงทะเบียนนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 คิวแรกกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง
https://bit.ly/3nE9BND
การแถลงข่าวของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564
https://www.facebook.com/fanmoph/videos/788718268428419
ลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีน หมอพร้อม รอบแรกต้องรู้อะไรบ้าง?
ที่มา: กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 64)

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง