สายตายาวตามอายุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แก้ไข หรือชะลอปัญหาสายตายาวได้อย่างไรบ้าง ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
“สายตายาวตามวัย” มักพบในคนที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป
ความสามารถในการเพ่งมองใกล้ลดลง แต่การมองไกลยังชัดดีอยู่ แต่เมื่อวัตถุอยู่ในระยะใกล้ ๆ เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือการอ่านหนังสือ ก็จะทำให้มองใกล้ไม่ชัด จึงเรียกว่าสายตายาวตามวัย
ทำไมสายตายาวเริ่มเมื่ออายุ 40 ปี ?
โดยทั่วไปความสามารถในการเพ่งของมนุษย์จะค่อย ๆ ลดลง และทุก ๆ 4 ปี สายตาจะลดลงประมาณ 1 ไดออปเตอร์
สายตาลดลงไปจนถึงอายุ 40 ปี จะเป็นจังหวะที่ธรรมชาติให้ความสามารถในการเพ่งลดลงเหลือต่ำกว่ามาก ประมาณไม่ถึง 5-6 ไดออปเตอร์ ซึ่งเป็นปริมาณความสามารถในการเพ่งที่จำเป็นต่อการใช้สายตาในระยะใกล้ที่มนุษย์ถนัดอยู่
ความสามารถในการเพ่งที่ค่อย ๆ ลดลง เกิดจาก 2 กลไก
1. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควบคุมเลนส์ตาลดลง ทำให้ความสามารถในการหดตัวเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ ลดลง
2. หลังอายุ 40 ปี ความสามารถในการยืดหยุ่นเปลี่ยนรูปร่างของเลนส์ตาค่อนข้างลดลงเรื่อย ๆ การมองใกล้ เหมือนการปรับโฟกัสของกล้องถ่ายรูป อาจจะฝืดและไม่สามารถปรับให้เห็นภาพชัดในระยะใกล้ได้
ในอดีต หลังจากอายุ 40 ปี ทุกคนจะมีปัญหาเรื่องสายตายาวตามวัย แต่คนที่มีปัญหาสายตาสั้นอยู่แล้ว ภาวะสายตายาวตามวัยนี้อาจจะเกิดช้าลง
นอกจากนั้น ปัจจุบันเป็นยุคที่คนใช้สายตามองมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ใกล้ ๆ ค่อนข้างมาก พบว่าคนมีปัญหาเรื่องสายตายาวตามวัยช้าลง อาจจะไปมีปัญหาสายตายาวตามวัยอายุ 44-45 ปี
ภาวะสายตายาว จะมีการเปลี่ยนแปลงหลังอายุ 40 ปี หรือไม่ ?
โดยทั่วไป เริ่มมีปัญหาภาวะสายตายาวอายุ 40 ปี ภาวะสายตายาวจะยังมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ (แต่ช้าลง) แต่สายตายาวจะไม่เพิ่มขึ้นหลังอายุ 50 ปี
เลนส์ตาของมนุษย์ นอกจากความยืดหยุ่นที่เสียไปแล้ว ความใสของเลนส์ตาก็จะขุ่นขึ้น ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรคต้อกระจก”
คนที่เริ่มเป็นสายตายาวตามอายุยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้แว่นตาก็ได้ แต่ต้องปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้สายตา เช่น ขณะที่มองวัตถุระยะใกล้ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ก็อาจจะถือห่างจากดวงตามากขึ้น มีไฟบริเวณนั้นสว่างมากขึ้น หรือตั้งแสงหน้าจอโทรศัพท์และแท็บเล็ตให้สว่างมากขึ้น
กรณีภาวะสายตายาวที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จำเป็นต้องพึ่งแว่นสายตายาว ซึ่งก็มีให้เลือกใช้แว่นสายตายาวอย่างเดียวเฉพาะเวลาอ่านหนังสือ
สำหรับคนที่มีภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียงร่วมอยู่ด้วย มักนิยมใส่แว่น 2 ชั้น หรือแว่นไร้รอยต่อ คือแว่นอันเดียวสามารถมองได้ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ก็คือแก้ทั้งปัญหาสายตาสั้นเอียงเดิม และสายตายาวตามวัยที่เข้ามาได้
การทำเลสิกสามารถแก้ปัญหาสายตายาวตามวัย ได้หรือไม่ ?
การทำเลสิกไม่สามารถแก้ปัญหาสายตายาวตามวัยได้ ยกเว้นอาจจะใช้เทคนิคโมโนวิชัน คือการปรับค่าสายตา 2 ข้าง ให้ข้างหนึ่งถนัดมองระยะไกล อีกข้างหนึ่งมีค่าสายตาสั้นหรือติดลบนิดหน่อย เพื่อให้มองระยะใกล้ได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากจักษุแพทย์ก่อน
คนที่มีภาวะสายตายาวตามวัยควรปฏิบัติ ดังนี้
1. เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยที่มีภาวะสายตายาวตามวัย ควรไปพบจักษุแพทย์ตรวจสุขภาพตา เพื่อให้แน่ใจก่อนว่าภาวะตามัวที่มองใกล้ไม่ชัด เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
2. ถ้าเป็นจากภาวะสายตายาวตามวัย การใช้แว่นตาก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ที่จะช่วยทำให้มองเห็นวัตถุทั้งระยะใกล้และระยะไกลชัดเจนเช่นเดิม
หมั่นตรวจสุขภาพของดวงตา และปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อพิจารณาทางเลือกการแก้ไขปัญหา เพื่อให้กลับมามองเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สายตายาวตามวัย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter