ระบบหลอดเลือดทำงานอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร เราควรดูแลให้หลอดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.เทิดภูมิ เบญญากร สาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คนเรามีระบบหลอดเลือดหลัก 2 ระบบคือ หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง โดยมีหลอดเลือดฝอยอยู่ระหว่างกลาง
หลอดเลือดแดง (artery) รับเลือดดีจากหัวใจ ส่งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ สมอง
หลอดเลือดดำ (vein) รับเลือดที่มีออกซิเจนต่ำกลับเข้าสู่ปอด เพื่อไปฟอกและส่งคืนหัวใจ
หลอดเลือดฝอย (capillary) ทำหน้าที่รับเลือดจากเซลล์เล็ก ๆ และส่งเข้าหลอดเลือดใหญ่ต่อไป
“หลอดเลือด” สำคัญกับร่างกาย อย่างไร ?
ถ้าเปรียบร่างกายเสมือนบ้าน หลอดเลือดก็เหมือนท่อน้ำที่ส่งสารอาหาร ส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปในบ้านให้ทำหน้าที่ได้ปกติ
หลอดเลือดเปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงหลัก ถ้าขาดเลือดทำให้อวัยวะต่าง ๆ มีปัญหาขึ้นมาได้
โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด มีอะไรบ้าง ?
โรคของหลอดเลือดมีหลายโรค เช่น หลอดเลือดตีบ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานมีประสิทธิภาพแย่ลง หรือหลอดเลือดมีการตีบตันก็ทำให้เสื่อมสภาพไปเลย แต่ในบางรายพบหลอดเลือดที่โป่งพองขึ้นก็ทำให้มีการฉีกขาดของหลอดเลือดได้
หลอดเลือดแดง โรคหลัก ๆ ที่พบก็คือ หลอดเลือดแดงตีบ หลอดเลือดแดงตัน และหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องที่โป่งพอง
หลอดเลือดดำที่น่ากลัวคือ ลิ่มเลือดอาจหลุดไปยังหลอดเลือดบริเวณปอดและทำให้เสียชีวิตได้
หลอดเลือดตีบตันที่ขา ส่งผลต่อหลอดเลือดอื่น ๆ ในร่างกายได้
หลายคนคิดว่าหลอดเลือดตีบตันที่ขาไม่ได้ส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การมีหลอดเลือดที่ขาตีบตันส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองอย่างมีนัยสำคัญ อาจทำให้เกิดหัวใจขาดเลือด หรือบางรายสมองขาดเลือด
โรคทางหลอดเลือดเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คนเราคุ้นชินกับสภาวะนั้น หลายรายคิดว่าเพราะอายุมากขึ้นมีอาการปวดขาเป็นเรื่องปกติ แต่ปล่อยทิ้งไว้เรื่อย ๆ โดยไม่ได้ดูแลรักษา อาการก็จะเป็นมากขึ้น มีการตีบตันหลอดเลือดที่มากขึ้น จึงควรสังเกตตัวเอง เช่น มีอาการปวดน่อง ตึงน่อง เดินได้น้อยลง
ในรายที่เป็นมากขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดบริเวณนิ้วเท้า (ตอนนอน) หรือบางรายมีแผลที่ปลายนิ้วเท้าไม่หาย นี่คืออาการเริ่มต้นของขาขาดเลือด แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
การตรวจสุขภาพของหลอดเลือด
หลอดเลือดมีอายุเท่า ๆ กับอายุของคนเราเหมือนกัน ยิ่งอายุมากก็จะมีความเสี่ยงที่มากขึ้น และมีการตีบตันของสารตะกอนตะกรันมากขึ้น
แนะนำให้คนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปมีการตรวจสมรรถภาพหลอดเลือด โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่และมีความดันเลือดสูงควรตรวจทุกปี เพื่อดูว่าหลอดเลือดมีความแข็งตัวจากความยืดหยุ่นที่สูญเสียไปหรือไม่
กรณีไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคเบาหวาน และไม่เป็นโรคความดันเลือดสูง อาจจะตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดที่อายุ 60 ปีได้
การสูบบุหรี่ หรือผู้ป่วยความดันเลือดสูง หลอดเลือดเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น จากหลอดเลือดที่มีความยืดหยุดก็จะแข็งตัว ทำให้มีโอกาสอุดตันในหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ก็ควรตรวจสุขภาพหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการดูแลหลอดเลือดก็เหมือนกับการดูแลสุขภาพร่างกายทั่วไป นั่นคือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ให้มีความดันเลือดสูง และกินอาหารที่มีประโยชน์สำหรับการบำรุงหลอดเลือด ได้แก่อาหารที่มีไขมันต่ำ ก็จะทำให้หลอดเลือดแข็งแรงดีขึ้น
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : รู้จักและเข้าใจหลอดเลือด
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter