บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปเตือนว่า มียา 3 ชนิดที่ก่อให้เกิดไตวายได้มากขึ้น ยาเป็นสาเหตุไตวายอันดับ 1 ที่ต้องระวังมีทั้งยาเบาหวาน ยาลดไขมันในเลือด และยาลดกรด จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) และ กรรมการแพทยสภา
เรื่องนี้ไม่จริง ยาทั้ง 3 ชนิด (ยาเบาหวาน ยาลดไขมัน ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะ) เป็นยาที่ไม่ได้มีผลเสียโดยตรงต่อไตเลย ขอให้ประชาชนที่ใช้ยาอยู่ใช้ยาต่อไปตามคำสั่งของแพทย์
ถ้าหากผู้ป่วยหยุดยาก็จะมีโรคอื่น ๆ ตามมา จากเรื่องน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือถ้ากินยาเพื่อป้องกันกระเพาะอยู่แล้วไปหยุดยาก็จะเกิดแผลในทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดและเสียชีวิตได้
ยาเป็นสาเหตุ “ไตวาย” อันดับหนึ่ง จริงหรือ ?
คนไทยเป็นโรคไตมาก เป็นสิ่งที่ถูก
สิ่งที่บอก “โรคไตมากกว่าครึ่งเกิดจากยา” เรื่องนี้ไม่ใช่
มีข้อมูลจากเว็บไซต์สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
อันดับ 1 โรคเบาหวาน (คุมน้ำตาลไม่ดี) อันดับ 2 โรคความดันเลือดสูง อันดับ 3 สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ โรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อ โรคเกาต์ โรคไตจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ
เรื่อง “ยา” ลงไปอยู่ลำดับท้าย ๆ ของสาเหตุโรคไต และยาที่จะมีผลเสียต่อไตก็คือยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs)
ยาที่จัดเป็นยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ยาแก้ปวดข้อ” หรือ “ยาแก้ข้ออักเสบ” เช่น แอสไพริน (aspirin หรือ acetyl salicylic acid), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac), นาพร็อกเซน (naproxen), ไพร็อกซิแคม (piroxicam), เมล็อกซิแคม (meloxicam), เซเลค็อกซิบ (celecoxib), เอทอริค็อกซิบ (etoricoxib) เป็นต้น
1. ยารักษาโรคเบาหวาน กลุ่ม Sulfonylureas ทำให้ ไตวาย ไตเสื่อม จริงหรือ ?
ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) เป็นยาที่ใช้กันบ่อย แต่ไม่ได้เลือกใช้เป็นอันดับแรก
ยาอันดับแรกที่ใช้รักษาเบาหวาน คือ ยาเม็ตฟอร์มิน (Metformin) ยากลุ่มนี้ในเอกสารกำกับยาจะไม่มีคำเตือนเลยว่าส่งผลเสียกับไต ทำให้เกิดไตวาย ไตเสื่อม นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้น เมื่อค้นฐานข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ก็ไม่พบเช่นเดียวกัน ว่าเป็นสาเหตุของไตวาย ไตเสื่อม ดังนั้น สิ่งที่แชร์เป็นข้อความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียเป็นยาที่มีผลข้างเคียงเรื่องอื่น ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องไต
ที่สำคัญก็คือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียทำให้เกิดน้ำตาลต่ำในเลือดได้ เรื่องนี้คุณหมอจะเตือนทุกครั้งและจะเขียนที่ซองยาว่าให้กินก่อนอาหารประมาณ 30 นาที กินยาแล้วต้องกินอาหาร เพราะยานี้จะไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนของเรา เมื่ออินซูลินออกมามากแล้วไม่มีอาหารก็จะหน้ามืด ใจสั่น ใจเต้นเร็ว เหงื่อออก หิวมาก เป็นต้น
ผู้ป่วยที่พบมักจะเหมารวมยาเบาหวานทั้งกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายร้ายแรง เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เพิ่งพบไม่กี่วันมานี้ ก็บอกว่าไม่กินยาเบาหวานทั้งกลุ่ม ยาความดันก็ไม่กิน เพราะได้ยินมาว่ายาเบาหวาน ยาความดัน กินแล้วส่งผลเสียต่อไต ซึ่งไม่เป็นความจริง
ไตวาย ไตเสื่อม เกิดขึ้นบ่อยมากจากการที่ผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลสูงแล้วไม่ได้รับการควบคุม เมื่อแพทย์ให้ยาเบาหวานกลุ่มใดก็ตามไปแล้วทำให้น้ำตาลลดลงในเลือด คือได้ตามเป้าหมายที่คุณหมอต้องการ เมื่อควบคุมได้ดีโอกาสเป็นโรคไตก็จะน้อยลง
ยาเบาหวาน ยาความดันเลือดสูง เป็นยาที่ปกป้องไตเรา เพื่อไม่ให้ไตวาย ไตเสื่อม ในภาวะที่เมื่อหยุดยาไปแล้ว น้ำตาลในเลือดสูงคุมไม่อยู่ ความดันเลือดสูงไม่คุมจะนำไปสู่ไตวาย ไตเสื่อม ดังนั้น ประชาชนอย่าเชื่อเป็นอันขาดว่าให้ไปหยุดยาเบาหวาน ให้หยุดยาความดัน
ในคลิปที่แชร์กันบอกให้เปลี่ยนยาด้วยนั้น ขออธิบายดังนี้ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียเป็นยาขนานที่ 2 ที่ใช้ถัดจากยาเม็ตฟอร์มิน ด้วยเหตุผลอันดับแรกเป็นยาที่ลดน้ำตาลได้ดีที่มีผลข้างเคียงที่เรารู้และป้องกันได้ และเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชี ก) มีความหมายว่า เป็นยามีราคาประหยัด มีความคุ้มค่าในการใช้
ถ้าประชาชนฟังและเชื่อข้อมูลที่ผิด ๆ ไม่ยอมกินยาด้วย แต่ขอเปลี่ยนเป็นยาอย่างอื่น แต่ยาที่ถูกเปลี่ยนไปมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แม้จะเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติชนิดอื่นก็ตาม ยิ่งถ้าเปลี่ยนไปใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติบางชนิดราคาจะต่างกันมหาศาล
ยกตัวอย่างเช่น ยาไกลพีไซด์ (Glipizide) เป็นยาอยู่ในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ราคาเม็ดละ 1 บาท ถ้าใช้วันละ 1 เม็ด ปีละ 365 บาท แต่ยาขนานถัดไปอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เม็ดละ 39 บาท ราคาแพงขึ้น 39 เท่าทีเดียว
ถ้าประชาชนไปตัดสินใจเองโดยไม่แจ้งแพทย์ แล้วก็ไปหยุดยาเอง น้ำตาลก็จะสูงขึ้นมากเลย
2. ยา statins หรือยาลดไขมัน ทำให้ไตวาย ไตเสื่อม จริงหรือ ?
“สแตติน” เป็นกลุ่มยาลดไขมันในเลือด ที่ช่วยลดไขมันไม่ดี หรือแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-C : Low Density Lipoprotein Cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) แต่ยาสแตตินช่วยเพิ่มไขมันดี หรือเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C : High Density Lipoprotein Cholesterol)
ยากลุ่มสแตติน ได้แก่ ซิมวาสแตติน (Simvastatin) อะทอวาร์สแตติน (Atorvastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) และ พราวาสแตติน (Pravastatin) เป็นต้น
ยากลุ่มสแตตินจึงเป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมาก และขาดไม่ได้สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองแล้ว จะลดความเสี่ยงโอกาสเกิดโรคซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ผู้ป่วยเหล่านี้จึงต้องใช้ยาสแตตินไปตลอดชีวิต
ถ้าผู้ป่วยที่ต้องกินยาสแตตินแต่ไม่ยอมกินจะเกิดผลเสีย เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เคยเป็นมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อหยุดยาแล้วก็ไม่บอกหมอด้วย วันใดวันหนึ่งก็จะเป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
การมีกล้ามเนื้อหัวใจตายแต่ละครั้งมีโอกาสเสียชีวิตได้
การเป็นหลอดเลือดที่อุดตันในสมอง มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เสมอ
ยาสแตตินไม่มีผลต่อไตเลย เพียงแต่ว่าถ้าเราใช้ยาสแตตินด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ยาสแตตินขนาดสูงมาก การใช้ยาที่เกินขนาด กล้ามเนื้อลายสลาย เมื่อกล้ามเนื้อสลายก็จะปล่อยสารไมโอโกลบิน (Myoglobin) ออกมาไปอุดไต ทำให้ไตวาย บางคนอาจเสียชีวิต หรือไตทำงานลดลง หรือไปใช้ร่วมกับยาอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ยาตีกัน” (drug interaction)
“ยาตีกัน” คือ การที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย ผลที่เกิดขึ้นอาจส่งผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจ หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรืออาจทำให้ผลการรักษาลดลงก็ได้ หรือบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยาตีกันจะเกิดผลมากน้อยขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ใช้ยาร่วมกัน และขนาดยาที่ใช้ด้วย
ดังนั้น ตัวสแตตินไม่ได้เป็นพิษโดยตรงต่อไต แต่ไตอาจจะวายได้ถ้าใช้สแตตินผิดวิธี แล้วนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย แล้วจึงค่อยนำไปสู่ภาวะไตวาย แต่อัตราการเกิดไตวายจากการใช้ยาสแตติน 1 ใน 1 แสนเท่านั้น และเป็นสิ่งที่ป้องกันได้
3. ยากลุ่ม proton pump inhibitors หรือยาลดกรดในกระเพาะ ทำให้ไตวาย ไตเสื่อม จริงหรือ ?
กลุ่มนี้พูดถึงยายับยั้งการหลั่งกรด (Proton-pump inhibitor : PPI) ซึ่งไม่มีข้อมูลใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงผลเสียต่อไตเลย แม้จะใช้ระยะยาวก็ตาม
ยากลุ่มนี้ก็ไม่ต้องไปเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของไตวาย ไตเสื่อมในคนไทยจำนวนมาก
ตัวที่ทำให้ไตแย่ลงคือยาเอ็นเสด แต่ต้องเป็นเอ็นเสดขนาดสูง
เรื่องยา 3 ชนิด กินแล้วไตวาย สรุปว่าไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่ออย่างยิ่ง
ถ้าเห็นก็ควรลบทิ้งไป ไม่ส่งต่อให้กับผู้ใดเลย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ยา 3 ชนิดที่ก่อไตวายมากขึ้น จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter