บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ว่า สหรัฐอเมริกาได้กำหนดอย่างเป็นทางการว่า “ความดันเลือดมาตรฐาน สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คือ 150/90” เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ข้อมูลที่แชร์ส่วนใหญ่ไม่จริง เป็นข้อมูลเก่า และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันเลือดสูงเสียโอกาสในการรักษาได้
สหรัฐอเมริกากำหนดอย่างเป็นทางการว่า “ความดันเลือดมาตรฐาน คือ 150/90” จริงหรือ ?
สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่อ้างกันตรงนี้ไม่เป็นความจริง ตามวิทยาลัยโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา และสมาคมหัวใจของสหรัฐอเมริกา การวินิจฉัยความดันเลือดสูงในผู้ใหญ่ทุกกลุ่มอายุ ถือว่าความดันเลือดในเกณฑ์ปกติคือ “ตัวบน” น้อยกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) และ “ตัวล่าง” น้อยกว่า 80 มม.ปรอท โดยไม่ได้กินยาลดความดัน
ผู้สูงอายุปกติ อายุมากกว่า 80 ปี ความดันเลือด 160 หรือ 170 ก็เป็นที่ยอมรับเช่นกัน จริงหรือ ?
ตรงนี้ก็ไม่จริงอีก เนื่องจากการศึกษาวิจัยทั่วโลกบอกว่า ความดันเลือดผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป “ความดันตัวบน” ถ้าสูงเกิน 120 มม.ปรอท ขึ้นไป สัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มขึ้นโดยตลอดในทุกช่วงอายุ
มีสูตรคำนวณความดันเลือดสำหรับวัยต่าง ๆ จริงหรือ ?
ความดันเลือด “ค่าตัวบน” หรือค่าซิสโตลิก (systolic) ปกติของผู้ชายคือ 82 + อายุ และของผู้หญิงคือ = 80 + อายุ เป็นที่เล่าลือกันมามากกว่า 10 ปีแล้ว ยังไม่พบเห็นในวารสารการแพทย์อะไร หรือองค์กรวิชาชีพที่ใช้สูตรคำนวณนี้
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ไม่สามารถมีความดันเลือดสูง “ต่ำกว่า 130 มม.ปรอท” ได้ มิฉะนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความดันเลือดต่ำ และเป็นลมได้ จริงหรือ ?
เรื่องนี้… ไม่จริง เพราะจากการสำรวจประชากรทั่วประเทศไทย พ.ศ. 2557 พบว่า
ผู้ชาย อายุ 70-79 ปี จำนวนมากกว่า 900 คน มีความดันเลือด โดยเฉลี่ย 101-165 มม.ปรอท
ผู้หญิง อายุ 70-79 ปี จำนวนมากกว่า 1 พันคน มีความดันเลือด โดยเฉลี่ย 105-163 มม.ปรอท
ผู้ชาย อายุมากกว่า 80 ปี จำนวน 351 คน มีความดันเลือด โดยเฉลี่ย 109-166 มม.ปรอท
ผู้หญิง อายุมากกว่า 80 ปี จำนวน 382 คน มีความดันเลือด โดยเฉลี่ย 103-164 มม.ปรอท
เพราะฉะนั้นความดันเลือดที่ต่ำกว่า 130 มม.ปรอท เป็นไปได้ในผู้สูงอายุ
ความดันเลือดสูงระหว่าง 150 ถึง 130 ปลอดภัยกว่า จริงหรือ ?
จะดีกว่าที่จะสูงกว่า อย่าต่ำกว่า แล้วแต่ว่าเขาเป็นโรคความดันเลือดสูง และกินยาลดความดันอยู่หรือเปล่า
คนที่กินยาลดความดันเลือดอยู่ (ถ้าอายุเกิน 65 ปี) ระดับความดัน “ตัวบน” ก็ควรจะอยู่ที่ 130-139 มม.ปรอท และระดับความดัน “ตัวล่าง” 70-79 มม.ปรอท ซึ่งค่าระดับความดันนี้เป็นคำแนะนำของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
สำหรับคนที่ไม่กินยาลดความดันเลือด ค่าระดับความดัน 90-120 มม.ปรอท (ตัวบน 120 มม.ปรอท ตัวล่าง 90 มม.ปรอท) ถือเป็นความดันเลือดปกติเฉพาะของคนนั้นได้
มาตรฐานของระดับน้ำตาลในเลือด ควรจะผ่อนคลายเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จริงไหม ?
มีบางส่วนที่เป็นความจริง สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ออกเป็นลักษณะคำแนะนำ เวลาจะดูผู้ป่วยโรคเบาหวานว่าควรจะมีน้ำตาลระดับเท่าไหร่ ให้พิจารณาหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งตรงนี้จะมีการกำหนดออกมาที่ชัดเจนว่าอายุเท่าไหร่ เป็นโรคประจำตัวอะไร เป็นเบาหวานมานานกี่ปี คุมเบาหวานได้ดีหรือไม่ดี โอกาสที่จะเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
มีความดันเลือดสูง มีน้ำตาลในเลือดสูง ควรดูแลตนเองอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดสูง จะต้องดูแลตนเองหลัก ๆ คือเรื่อง “3 อ.” และ “2 ส.”
ข้อ 1 “อ.1” อาหาร นำจานมา 1 จาน แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
2 ใน 4 (ครึ่งหนึ่ง) ใส่อาหารพวกผัก ถั่ว งา
1 ใน 4 ใส่ข้าว โดยเฉพาะข้าวกล้อง
1 ใน 4 ใส่เนื้อสัตว์ เน้นไปที่เนื้อไก่กับเนื้อปลา ไก่ไม่ติดมัน
เพิ่มเติมด้วยผลไม้ (ตามฤดูกาล) อีก 2-3 ฝ่ามือ และน้ำเปล่า
ข้อ 2 “อ.2” อิริยาบถ เคลื่อนไหวออกแรง ออกกำลังกาย ง่ายที่สุดคือ “การเดิน”
เท่าที่มีการศึกษาพบว่า “การเดิน” ช่วยลดความดันเลือดได้ อย่างน้อยใน 1 วันควรเดินประมาณ 8,000 ก้าว
ข้อ 3 “อ.3” อารมณ์ เรียกว่า “ออกกำลังใจ” ก็คือการที่เราไม่เครียด ใช้สมองทั้งวัน อดหลับอดนอน พักผ่อนไม่พอ
ข้อ 4 “2 ส.” สูบบุหรี่ กับ สุรา ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้ก็ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นได้ทั้งคู่
ข้อความเกี่ยวกับ “ความดันเลือด” และ “น้ำตาลในเลือด” ที่แชร์กันเป็นอย่างไร ?
ไม่ควรแชร์ต่อเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะทำให้คนที่รับข่าวสารเข้าใจผิดแล้ว เขายังเสียโอกาสในการที่จะได้มาดูแลความดันเลือดสูงแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้ายิ่งทิ้งความดันเลือดสูงนานมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด แม้แต่มะเร็ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ตามมาได้
การได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เสียโอกาสในการดูแลสุขภาพให้ดีได้
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ความดันโลหิตมาตรฐานคือ 150/90 สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter