29 กรกฎาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอบิดเบือนข้อมูลเผยแพร่ทาง Facebook โดย ริมา ไลโบว์ จิตแพทย์ที่ออกมาโจมตีความปลอดภัยของวัคซีน อ้างว่าวัคซีนคือแผนขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อลดจำนวนประชากรโลกให้เหลือเพียง 10%
บทสรุป :
- อ้างถึงโครงการวัคซีนเพื่อการควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ของ WHO เมื่อปี 1974
- ตอนนั้นมีการทดลองใช้วัคซีน anti-HCG ยับยั้งการตั้งครรภ์แบบชั่วคราว ไม่ใช่การทำหมันอย่างถาวร
- ปัจจุบัน WHO ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนในการวางแผนครอบครัว
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ริมา ไลโบว์ อ้างว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) มีแผนการผลิตวัคซีนที่ทำให้เป็นหมันอย่างถาวรมาตั้งแต่ปี 1974 เพราะมองว่าโลกมีประชากรมากเกินจำเป็นถึง 90%
จากการตรวจสอบของ Science Feedback พบว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการบิดเบือนแผนพัฒนาการวางแผนครอบครัวขององค์การอนามัยโลก
เมื่อปี 1972 WHO ได้จัดตั้งโครงการ วัคซีนเพื่อการควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ (Vaccines for Fertility Regulation) นำไปสู่การประชุมในปี 1974 เพื่อเลือกชนิดของเนื้อเยื้อและโมเลกุลที่ช่วยในการยับยั้งการตั้งครรภ์ เพื่อคิดค้นการวางแผนครอบครัวแนวใหม่ให้ได้ก่อนสิ้นสุดทศวรรษ
หนึ่งในแนวทางที่พูดถึงในครั้งนั้นคือการทดลองวัคซีนยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin หรือ anti-HCG vaccine
ฮอร์โมน HCG คือฮอร์โมนที่ใช้ในการตั้งครรภ์ของผู้หญิง ผลิตจากรกในครรภ์หลังอสุจิและไข่ปฏิสนธิกันแล้วประมาณ 11 ถึง 14 วัน มีบทบาทสำคัญในการผลิตโพรเจสเทอโรน ฮอร์โมนซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างตัวอ่อน
ดังนั้นการผลิตวัคซีน anti-HCG เพื่อสร้างแอนติบอดียับยั้งการทำงานของฮอร์โมน HCG จะช่วยปิดกั้นการผลิตฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน นำไปสู่การยับยั้งการสร้างตัวอ่อนและการตั้งครรภ์ในที่สุด ซึ่งการทดลองทางคลินิกขนาดเล็กในประเทศอินเดียพบว่า วัคซีน anti-HCG ช่วยให้ผู้รับวัคซีนป้องกันการตั้งครรภ์ได้จริง
อย่างไรก็ดี การอ้างว่า WHO มีแผนการผลิตวัคซีนที่ทำให้เป็นหมันอย่างถาวรไม่เป็นความจริง เนื่องจากผลของการยับยั้งการตั้งครรภ์ด้วยวัคซีน anti-HCG เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่ใช่การทำหมันถาวรแต่อย่างใด
การวางแผนครอบครัว มีทั้งแบบป้องกันการตั้งครรภ์ถาวรและชั่วคราว เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดที่ช่วยยับยั้งการตั้งครรภ์ในสตรี แต่ผู้ใช้สามารถกลับมาตั้งครรภ์อีกได้เมื่อหยุดใช้ยา นอกจากนี้ ในปัจจุบัน WHO ยังไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนในการป้องกันการตั้งครรภ์อีกด้วย
ข่าวลือเรื่องวัคซีนทำให้เป็นหมันและถูกใช้เป็นเครื่องมือลดประชากรโลก แพร่หลายอย่างมากในช่วงการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงข่าวลือที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น เช่นครั้งที่นักบวชคาทอลิกในประเทศเคนย่าเตือนไม่ให้ผู้หญิงฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เพราะจะทำให้ฮอร์โมน HCG หยุดทำงานและกลายเป็นหมัน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริงแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบประวัติ ริมา ไลโบว์ พบว่าเธอถูกองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ส่งจดหมายเตือนเรื่องการจำหน่ายยา Nano Silver โดยอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคได้หลากหลายชนิด ตั้งแต่อีโบลาจนถึงโควิด-19 แต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ยืนยันว่ารักษาได้จริง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter