13 เมษายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนและโรคออทิสติกเผยแพร่โดย โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ นักกฎหมายและนักการเมืองชาวอเมริกันวัย 70 ปี โดยระหว่างรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2023 โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ กล่าวหาว่าการฉีดวัคซีนคือสาเหตุของการป่วยเป็นโรคออทิสติกในเด็ก
บทสรุป :
- สาเหตุที่พบเด็กป่วยเป็นโรคออทิสติกมากขึ้น เพราะปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นและการคัดกรองละเอียดกว่าในอดีต
- ไม่พบหลักฐานว่าการใช้ Thimerosal เป็นสารกันเสียในวัคซีนทำให้เสี่ยงเป็นโรคออทิสติก
- จากการศึกษาเท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักฐานถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับโรคออทิสติก
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Factcheck.org ได้ตรวจสอบความเห็นของ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ และพบว่ามีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนและโรคออทิสติกแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นดังนี้
- คนในอดีตไม่ค่อยได้ฉีดวัคซีน เลยไม่ป่วยเป็นโรคออทิสติกเท่าคนรุ่นใหม่ที่ถูกบังคับให้ฉีดวัคซีน – ข้อมูลเท็จ
ระหว่างหาเสียง โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ได้เผยแพร่แนวคิดว่า Autism Epidemic หรือการระบาดของโรคออทิสติกในปัจจุบันมีสาเหตุจากนโยบายการฉีดวัคซีน โดยเปรียบเทียบว่า จำนวนผู้ป่วยออทิสติกส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่เกิดในยุคหลัง แต่ไม่ค่อยพบผู้ใหญ่ที่มีอาการป่วยทางจิตมาใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน จึงเชื่อว่าส่วนประกอบในวัคซีนส่งผลให้เด็กที่เกิดใหม่ป่วยเป็นออทิสติกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การไม่พบผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกมากเท่ากับเด็ก ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคออทิสติกในอดีตตามที่กล่าวอ้าง
ข้อมูลล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ประเมินว่า 1 ใน 36 ของเด็กที่เกิดในปี 2012 ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคออทิสติก
ส่วนการสำรวจปี 2017 ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) พบว่ามีผู้ใหญ่ 1 ใน 45 รายที่ป่วยเป็นโรคออทิสติก
สาเหตุที่จำนวนผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคออทิสติกพบเป็นได้น้อยกว่าเด็ก ปัจจัยสำคัญมาจากผู้ป่วยออทิสติกมีอายุขัยที่สั้นกว่าคนปกติ สาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งจากอาการแทรกซ้อนของโรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก และโรคประจำตัวอื่น ๆ รวมถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าคนปกติ
ยังรวมถึงปัจจัยที่ผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่หลายรายอาจมีอาการโดยไม่ได้รับการวินิจฉัย และรายที่ไม่เปิดเผยว่าตนเองป่วยเป็นออทิสติก รวมถึงผู้ป่วยออทิสติกที่รักษาตัวร่วมกับอาการป่วยทางจิตอื่น ๆ เช่น โรคจิตเภท
ในรายที่ป่วยเป็นออทิสติกชนิดรุนแรงหรือ Profound Autism ซึ่งมีปัญหาทางสติปัญญาและความสามารถในการพูด บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และจะอาศัยอยู่ในสถานบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต จึงไม่ค่อยออกมาใช้ชีวิตในสังคมเหมือนคนส่วนใหญ่
การคัดกรองผู้ป่วยออทิสติกละเอียดยิ่งขึ้น
การวินิจฉัยโรคออทิสติกในเด็กที่มีความละเอียดมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลโดยตรงต่อการตรวจพบเด็กป่วยด้วยโรคออทิสติกจำนวนมากขึ้น เช่น รายที่ไม่มีปัญหาด้านการสื่อสารด้วยคำพูด แต่พบปัญหาด้านการสื่อสารด้วยท่าทาง ก็เข้าข่ายเป็นเด็กที่มีอาการออทิสติกในปัจจุบัน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านกุมารเวชที่พัฒนาขึ้น ช่วยให้ทารกที่มีความบกพร่องตั้งแต่กำเนิดมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจเติบโตขึ้นมาแล้วมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคออทิสติกได้เช่นกัน
รวมถึงสภาวะสังคมในปัจจุบัน ทั้งการมีลูกช้าลงของผู้ปกครองที่มีอายุมาก และปัญหามลภาวะทางอากาศที่เพิ่ม ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการให้กำเนิดทารกที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกทั้งสิ้น
ในทางตรงกันข้าม หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างโรคออทิสติกกับวัคซีนหลายชนิด แต่ปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีวัคซีนชนิดใดเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคออทิสติก
เดวิด แมนเดลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทางจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ยืนยันว่า การวิจัยอย่างถี่ถ้วนเท่าที่ผ่านมา ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนกับโรคออทิสติกแม้แต่น้อย
- Thimerosal สารกันเสียในวัคซีนทำให้เด็กป่วยเป็นโรคออทิสติก – ข้อมูลเท็จ
เมื่อปี 2005 โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังทั้ง Rolling Stone และ Salon โดยอ้างว่า ไทเมอโรซอล (Thimerosal) ปรอทอินทรีย์ที่เคยใช้เป็นสารกันเสียในวัคซีนหลายชนิด คือสาเหตุทำให้เด็กป่วยเป็นโรคออทิสติกมากขึ้น
แต่ภายหลังนิตยสาร Salon ได้ถอนการนำเสนอบทความดังกล่าว หลังพบว่าเนื้อหาขัดแย้งกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ส่วนนิตยสาร Rolling Stone ก็ยกเลิกการนำเสนอบทความชิ้นนี้ทางเว็บไซต์เช่นกัน
ในระหว่างรณรงค์หาเสียงช่วงปี 2023 โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ก็ยังนำไทเมอโรซอลมาเชื่อมโยงกับการเกิดโรคออทิสติกอีกครั้ง โดยอ้างงานวิจัยปี 2003 ของ CDC ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไทเมอโรซอลกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ข้อสรุปของงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ไทเมอโรซอลไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคออทิสติกหรือพัฒนาการของระบบประสาทใด ๆ
เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ไทเมอโรซอลซึ่งเป็นปรอทอินทรีย์ชนิด Ethyl Mercury จะสลายจากร่างกายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งแตกต่างจากปรอทอินทรีย์ชนิด Methyl Mercury ซึ่งส่งผลต่อปัญหาด้านระบบประสาทในมนุษย์
งานวิจัยของปี 2003 ของ CDC ถูกทำขึ้นหลังจากมีการเรียกร้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและวิชาชีพ ให้ยุติการใช้ไทเมอโรซอลในวัคซีน นำไปสู่การยกเลิกการใช้ไทเมอโรซอลในวัคซีนสำหรับเด็กเกือบทุกชนิดในปี 2001 ยกเว้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่บางชนิดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นในเวลาต่อมา ก็ไม่พบว่าไทเมอโรซอลในวัคซีนมีผลต่อการเกิดโรคออทิสติกหรือพัฒนาการของระบบประสาทใด ๆ
แม้จะยกเลิกการใช้ไทเมอโรซอลในวัคซีนสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 2001 แต่จำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
มีงานวิจัยที่พบว่า ประเทศสวีเดนและเดนมาร์กได้ยกเลิกการใช้ไทเมอโรซอลในวัคซีนมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990s แต่ผู้ป่วยเกิดโรคออทิสติกทั้งสองประเทศก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980s จนถึงปลายทศวรรษ 1990s
คณะที่ปรึกษาด้านระบบภูมิคุ้มกันของ CDC แนะนำให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม ไม่ว่าวัคซีนชนิดนั้นจะมีส่วนประกอบของไทเมอโรซอลหรือไม่ก็ตาม
- Autism Epidemic เริ่มระบาดในปี 1989 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มบังคับให้เด็กฉีดวัคซีน – ข้อมูลเท็จ
คำกล่าวอ้างของ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ อ้างอิงงานวิจัยปี 2010 ที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคม American Chemical Society โดยนักวิจัยจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ อ้างว่าปี 1989 คือปีที่จำนวนผู้ป่วยโรคออทิสติกเพิ่มมากกว่าปกติ แต่บทสรุปในงานวิจัยชิ้นนั้นยังขาดความน่าเชื่อถือเนื่องจากข้อมูลที่ใช้อ้างอิงขาดความสอดคล้องซึ่งกันและกัน ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ก็ระบุปีที่พบการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคออทิสติกที่ต่างออกไป
ในปี 1989 มีการรณรงค์การฉีดวัคซีนโรคฮิบเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ตามด้วยวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในปี 1994 วัคซีนอีสุกอีใสในปี 1996 วัคซีนไวรัสโรตาในปี 1998
โดยวัคซีนเหล่านี้ได้รับการยืนยันว่าป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคโรคออทิสติกอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญต่างโต้แย้งว่า ปี 1989 ไม่ใช่ปีที่มีการพบผู้ป่วยโรคออทิสติกมากผิดปกติตามที่กล่าวอ้าง
แคเธอรีน ลอร์ด นักจิตวิทยาคลินิกและนักวิจัยด้านโรคออทิสติก จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UCLA) อธิบายว่า ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคออทิสติกเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในปี 1989 อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยโรคออทิสติกเป็นไปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970s ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มศึกษาโรคออทิสติกอย่างจริงจังและแพร่หลายในหลายประเทศ ทั้ง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา
แคเธอรีน ลอร์ด ย้ำว่าไม่มีหลักฐานใดที่พบว่าวัคซีนส่งผลต่อการเกิดโรคออทิสติก สมมติฐานเหล่านี้ถูกหักล้างมาตั้งแต่การเผยแพร่งานวิจัยอื้อฉาวที่พยายามเชื่อมโยงวัคซีน MMR กับโรคออทิสติกเมื่อปี 1998 จนผู้วิจัยต้องสูญเสียสถานะทางการแพทย์ ไม่ต่างจากงานวิจัยแบบเดียวในยุคต่อมา ที่ถูกหักล้างด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด
ภัยของการกระตุ้นให้เกิดการวิจัยที่ไม่จำเป็น
ระหว่างเผยแพร่ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนและโรคออทิสติก โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ มักอ้างความชอบธรรมว่า สิ่งที่เขาเรียกร้องเป็นการกระตุ้นให้วงการวิทยาศาสตร์หันมาวิจัยผลเสียของการฉีดวัคซีนกับการเกิดโรคออทิสติกให้มากกว่านี้
แต่ข้ออ้างดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบของวัคซีนกับโรคออทิสติก มีการศึกษากันมาอย่างแพร่หลาย ซึ่งแต่ละครั้งผู้วิจัยก็ไม่อาจหาความสัมพันธ์ได้ว่า วัคซีนมีความเกี่ยวข้องกับโรคออทิสติกแต่อย่างใด
เดวิด แมนเดลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทางจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ให้ความเห็นว่า การเรียกร้องให้เกิดการวิจัยในสิ่งที่พิสูจน์แล้วในทางการแพทย์ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและส่งผลเสียต่อสังคม เพราะเงินที่ใช้เพื่อการวิจัยควรนำไปใช้อย่างมีประโยชน์มากกว่า เช่น แก้ปัญหาการขาดแคลนสถานบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคออทิสติก เป็นต้น
นอกจากนี้ การสร้างข้อสงสัยต่อวัคซีนที่ได้รับการยืนยันด้านความปลอดภัย ถือเป็นการลดโอกาสการเข้าถึงการรักษา และเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างไม่จำเป็น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2023/08/scicheck-what-rfk-jr-gets-wrong-about-autism/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter