โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือ โรค MS มีวิธีการรักษาอย่างไร
ผู้ป่วยสามารถหาซื้อยากินเองได้หรือไม่
มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.พญ.จิราพร จิตประไพกุลศาล อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
“MS” เป็นชื่อย่อของ “โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง” ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจและสื่อสารกันง่าย ย่อมาจากคำว่า Multiple Sclerosis
โรค MS เป็นโรคที่พบน้อย ประเทศไทยมีประมาณ 0.7 รายต่อประชากรแสนราย
ปกติแล้ว เซลล์ประสาทของคนเราจะมีการนำกระแสประสาท จากเซลล์หนึ่งต่อไปที่เซลล์ถัดไป ระหว่างการเดินทางของกระแสประสาท จะผ่านปลอกประสาท ทำให้กระแสประสาทเคลื่อนที่ได้เร็ว อย่างเช่นเวลาเราคิด แล้วเราจะขยับมือ จะเร็วมาก เราจะไม่รู้ตัว ปลอกประสาทเป็นตัวที่ช่วยนำความเร็วของกระแสประสาท
ในภาวะของโรค MS คือมีการอักเสบ การนำกระแสประสาทของผู้ป่วยก็จะช้าลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ
ประชากรกลุ่มที่พบโรค MS มีหลายวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยกลางคน ผู้ป่วยบางรายอาจจะเป็นผู้สูงอายุได้
ผู้ป่วยกลุ่มที่พบมากที่สุดอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 10 กว่าปี ไปจนถึง 20-30 ปี และพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย ในประเทศไทยพบได้ทั้งสองเพศ แต่ก็พบในผู้หญิงได้มากกว่า
อาการกำเริบของโรค MS ในผู้ป่วยแต่ละรายเหมือนกันหรือไม่
ผู้ป่วยแต่ละรายมีอาการกำเริบแตกต่างกัน ขึ้นกับว่าการอักเสบเกิดขึ้นที่ตำแหน่งไหน
ถ้าเกิดขึ้นที่เส้นประสาทตาก็มีอาการตามัว
ในผู้ป่วยรายเดียวกัน ครั้งนี้มีไขสันหลังอักเสบ ครั้งถัดไปอาจจะเป็นเส้นประสาทตาอักเสบ
นอกจากนี้ ไม่ได้มีข้อห้ามผู้ป่วยโรค MS กินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง
ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าได้รับยาอะไรอยู่ สมมุติว่าได้รับยากดภูมิหรือยาปรับภูมิ จะแนะนำอาหารที่สุกสะอาด
ผู้ป่วยโรค MS ได้รับยาอะไรบ้าง
การรักษาผู้ป่วยโรค MS ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยการใช้ยาหลายประเภท ดังนี้
1.ยาป้องกันอาการกำเริบ
เนื่องจากโรค MS เป็นโรคที่มีการอักเสบ ยาทั้งหลายที่ใช้รักษาคือยาที่ป้องกันการอักเสบ เป็นยาที่ไปมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในตำแหน่งต่าง ๆ มีทั้งยากิน ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และยาฉีดเข้าทางหลอดเลือด
2.ยาลดอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการชาหลงเหลือ หรือบางคนมีอาการเกร็งขาหลงเหลือ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ
ยาสเตียรอยด์มีข้อจำกัดในการใช้หรือไม่
“สเตียรอยด์” เป็นยาที่ดีมาก แต่ใช้เฉพาะช่วงที่โรคกำเริบสั้น ๆ เช่น 3 วัน 5 วัน หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดยาลง แต่จะไม่ให้สเตียรอยด์รักษาโรค MS ระยะยาว เพราะว่าสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงมาก ยกเว้นกรณีที่รักษายากและใช้ยาอื่นไม่ได้ผล จะพิจารณาใช้กับผู้ป่วยเป็นราย ๆ เท่านั้น
ผู้ป่วยโรค MS กับการใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า
ถ้าผู้ป่วยโรค MS มีภาวะซึมเศร้า แพทย์ก็พิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ร่วมด้วย
อีกประเด็นหนึ่ง ยาซึมเศร้าบางชนิดสามารถรักษาอาการอื่น ๆ เช่น รักษาอาการปวดบางลักษณะได้ ก็อาจจะใช้เป็นยาเสริมในการรักษาอาการปวดภายในจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง
“กัญชา” ใช้ป้องกันอาการของโรค MS ได้หรือไม่
เรื่อง “กัญชา” ยังไม่มีข้อมูลว่าสามารถป้องกันการกำเริบของโรค MS ได้
มีข้อมูลว่ากัญชาสามารถรักษาภาวะอาการเกร็งในผู้ป่วย MS
จริง ๆ ยาลดอาการเกร็งมีหลายชนิด เพียงแต่ยาลดอาการเกร็งเกือบทุกชนิดมีผลข้างเคียงคล้าย ๆ กัน คือ มีอาการง่วง มึนศีรษะ แต่กัญชาก็มีผลข้างเคียงเรื่องอาการง่วงหรือมึนได้เช่นเดียวกัน
กัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ก็เป็นรูปแบบเฉพาะที่ใช้ทางการแพทย์ แนะนำให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ซึ่งอาจจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
การรักษาจะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยโรค MS แต่ละราย เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยแต่ละรายจึงได้รับยาที่แตกต่างกัน
โรค MS เป็นโรคที่มีทางรักษา ไม่ว่าจะเป็นช่วงโรคกำเริบหรือโรคสงบ
การรักษาไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือการไม่ใช้ยา กายภาพบำบัด เราสามารถช่วยควบคุมและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบได้
อยากให้ผู้ป่วยที่เป็นโรค MS นี้ มีกำลังใจในการดูแลตนเอง และอยู่กับโรค MS อย่างมีความสุข
เป็นคนปกติที่มี “ภาวะ MS” มากกว่าที่จะเป็น “ผู้ป่วยโรค MS”
ดูเพิ่มเติม “รายการชัวร์ก่อนแชร์”
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter