14 กันยายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- สาเหตุที่รูบนอาคารเพนตากอนที่ถูกพุ่งชนมีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเครื่องบิน เพราะปีกของเครื่องบินที่พุ่งชนหักทั้งสองข้างก่อนพุ่งชน
- ภายหลังกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกการพุ่งชนของเครื่องบินอย่างชัดเจน
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่าอาคารเพนตากอน ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ถูกมิสไซล์หรือขีปนาวุธยิงโจมตีระหว่างเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ไม่ใช่การถูกเครื่องบินพุ่งชนตามที่ทางการรายงาน ทฤษฎีสมคบคิดหลายข้อยืนยันความเชื่อดังกล่าว อาทิ ขนาดรูบนอาคารเล็กกว่าขนาดของเครื่องบินที่พุ่งชน และการไม่พบซากเครื่องบินหรือซากศพของผู้โดยสารในที่เกิดเหตุ
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
อาคารเพนตากอน ตั้งอยู่ที่เมืองอาร์ลิงตัน เคาตี รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1941 และเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1943
เพนตากอนประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 5 หลังที่รวมกันเป็นรูปทรง 5 เหลี่ยม มีความสูง 5 ชั้น ภายในมีทางเดินแบ่งอาคารแต่ละด้านออกเป็น 5 ส่วน ตัวอาคารมีพื้นที่ 6.5 ล้านตารางฟุต (600,000 ตารางเมตร) นับเป็นอาคารสำนักงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปัจจุบัน หลังครองอันดับหนึ่งมานานกว่า 80 ปี (ปัจจุบันอาคารสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ Surat Diamond Bourse ศูนย์กลางการค้าขายเพชรพื้นที่ 7.1 ล้านตารางฟุต (660,000 ตารางเมตร) ที่เมืองสุรัต รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนพฤศจิกายน 2023 นี้)
ระหว่างเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 การสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และพลเรือนภายในอาคารอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากตัวอาคารอยู่ในระหว่างการปรับปรุง ภายในอาคารที่ถูกโจมตีจึงมีผู้คนในที่เกิดเหตุเพียง 800 รายจากที่ควรจะมีถึง 4,500 ราย
นอกจากนี้ ด้านของอาคารที่ถูกโจมตีหรือด้าน Wedge One ยังเป็นด้านที่ออกแบบมาเพื่อต้านทานการโจมตีจากการก่อการร้ายโดยเฉพาะ และเพิ่งผ่านการเสริมความแข็งแกร่งของตัวอาคารก่อนการถูกโจมตีไม่นาน
โครงสร้างอาคารเสริมความแข็งแกร่งด้วยเสาและคานจากเหล็กกล้าเพื่อต้านทานแรงระเบิด ตัวอาคารถูกออกแบบให้ทนต่อการถล่มเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อให้คนนับร้อยมีเวลาหนีออกมาจากตัวอาคารได้ทันเวลา และมีระบบประตูหนีไฟที่เปิดปิดอัตโนมัติ
หน้าต่างเป็นชนิดที่ทนต่อแรงระเบิดโดยเฉพาะ แต่ละบานมีความหนา 5 เซนติเมตรและหนักถึง 1,100 กิโลกรัม
นอกจากนี้ Wedge One ยังเป็นด้านเดียวของอาคารเพนตากอนที่มีระบบปล่อยน้ำจากสปริงเกอร์เพื่อดับไฟอีกด้วย
ขนาดรูที่เล็กกว่าเครื่องบิน
ผู้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดเชื่อว่าอาคารเพนตากอนถูกโจมตีด้วยอาวุธมิสไซล์ เนื่องจากรูบนอาคารเพนตากอนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ฟุต ขณะที่เครื่องบิน Boeing 757 ที่พุ่งชนมีความกว้างถึง 126 ฟุต
มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ซึ่งรับผิดชอบการสอบสวนเหตุโจมตีอาคารเพนตากอนอธิบายว่า สาเหตุที่รูในอาคารมีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเครื่องบิน เป็นเพราะส่วนที่พุ่งชนอาคารมีแต่ส่วนลำตัวของเครื่องบิน โดยปีกด้านหนึ่งหักระหว่างพุ่งชนพื้นดินด้านหน้าอาคาร ส่วนปีกอีกด้านหักตอนพุ่งชนเสาของอาคารที่ออกแบบเพื่อทนต่อการโจมตีของผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะ
ซากเครื่องบินและผู้เสียชีวิต
มีหลักฐานมากมายที่ยืนยันการใช้เครื่องบินโดยสารโจมตีอาคารเพนตากอน ทั้งการพบซากเครื่องบินและชิ้นส่วนจากร่างของผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ พยานที่เห็นเหตุการณ์ ภาพถ่ายและรายงานข่าวของสื่อหลายสำนัก รวมถึงบทสนทนาของผู้โดยสารบนเที่ยวบินที่ 77 ที่โทรศัพท์ไปยังสมาชิกในครอบครัวก่อนเครื่องบินจะพุ่งชนตัวอาคาร
คลิปวิดีโอการพุ่งชนของเครื่องบิน
หลังถูก Judicial Watch กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม เรียกร้องให้เปิดเผยวิดีโอการโจมตีอาคารเพนตากอน กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาจึงได้เปิดเผยภาพที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดหน้าอาคารเพนตากอนในปี 2006 ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าอาคารเพนตากอนถูกโจมตีโดยเครื่องบินที่ถูกจี้โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายมานั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jul/19/instagram-posts/human-remains-aircraft-debris-recovered-from-911-c/
https://www.politifact.com/factchecks/2022/sep/14/instagram-posts/plane-debris-was-found-pentagon-after-911/
https://apnews.com/article/fact-check-911-pentagon-airplane-debris-598153051732
https://en.wikipedia.org/wiki/9/11_conspiracy_theories
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Pentagon
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter