03 สิงหาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์ต่อการป่วยและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ สตีเวน มิลลอย อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (USEPA) ในคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของ โดนัล ทรัมป์ ให้ความเห็นผ่านรายการสถานีโทรทัศน์ Fox News ว่า ชาวอเมริกันไม่จำเป็นต้องกลับมาสวมหน้ากากอนามัยอีกครั้ง เพราะฝุ่นควันที่ลอยมาจากไฟป่าในประเทศแคนาดาไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากควันจากไฟป่าเป็นของที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ พร้อมอ้างว่าฝุ่น PM เพิ่งเริ่มเป็นที่สนใจของสาธารณชนหลัง EPA เปิดประเด็นในช่วงทศวรรษ 1990’s เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่ามีใครเคยได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM การวิจัยของ EPA ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าฝุ่น PM ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างชัดเจน การอ้างเรื่องอันตรายจากฝุ่น PM จึงเป็นวิทยาศาสตร์ปลอม (Junk Science)
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ฝุ่น PM หรือ Particulate Matter คือละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศ รวมถึงควันที่เกิดจากไฟป่า
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ฝุ่น PM 10 ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 10 ไมโครมิเตอร์ หากสูดเข้าไปแล้วอาจทำให้ตา จมูก และลำคอเกิดอาการระคายเคือง ส่วนฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครมิเตอร์ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า โดยสามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในส่วนลึกของปอดและสามารถเข้าไปอยู่ในกระแสโลหิตอีกด้วย
ฝุ่น PM มีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง ทั้งอาการหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ กระตุ้นโรคหอบหืด ทำให้การทำงานของปอดแย่ลง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (USEPA) ย้ำว่า ฝุ่น PM มีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งปอดและความพิการแต่กำเนิดของทารก ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอด คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากฝุ่น PM มากที่สุด
โฆษกของ EPA ชี้แจงต่อ PolitiFact ว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสูดดมฝุ่น PM ที่อยู่ในควัน ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยระดับ peer-reviewed หลายพันชิ้น
ฝุ่น PM ยังเป็น 1 ใน 6 มลพิษทางอากาศ ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มควบคุมไม่ให้เกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ปี 1970 ตามพ.ร.บ. อากาศสะอาด (Clean Air Act) ของสหรัฐอเมริกา (PM2.5 และ PM10, คาร์บอนมอนอกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์, สารตะกั่ว และโอโซนระดับพื้นดิน)
โดย USEPA คือหน่วยงานที่รับผิดชอบการกำหนดค่ามาตรฐานของมลพิษทางอากาศ และมีการทบทวนค่ามาตรฐานทุก ๆ 5 ปี
สตีฟ มิลลอย วิจารณ์การกำหนดค่ามาตรฐานของมลพิษทางอากาศโดย EPA เนื่องจากงานวิจัยเชิงและระบาดวิทยา (Epidemiological Studies) และ การทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี (Controlled Human Exposure Studies) หลายชิ้น ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM กับปัญหาสุขภาพหรือการเสียชีวิตที่ชัดเจน
นอกจากนี้ สมาชิกบางรายของ Clean Air Scientific Advisory Committee หน่วยงานกลางที่ให้คำปรึกษาแก่ EPA ก็มีความกังวลต่อแนวทางที่ EPA ใช้กำหนดค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน
อย่างไรก็ดี ดันแคน โทมัส ศาสตราจารย์กิตติคุณ ภาควิชาประชากรและวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ Clean Air Scientific Advisory Committee ให้ความเห็นว่า การวิจัยโดยการสังเกต การทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี รวมถึงการทดลองในสัตว์ในปัจจุบัน เพียงพอจะยืนยันได้ว่า มลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพจริง พร้อมย้ำว่า ผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ไม่มีความจำเป็นต้องรอการกำหนดนโยบายสาธารณสุขจนกว่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนจนไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ การกำหนดนโยบายที่ล่าช้าเพราะมัวแต่รอคอยหลักฐานที่สมบูรณ์แบบ ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ไมเคิล ไคลน์แมนน์ ศาสตราจารย์ภาควิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์วิน ยืนยันว่า มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันได้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์ต่อการป่วยและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ สอดคล้องกับงานวิจัยของ EPA ที่ใช้กำหนดค่ามาตรฐานของมลพิษทางอากาศ
สตีเวน มิลลอย เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย ล็อบบี้ยิสต์ และคอมเมนเตเตอร์ของสถานีโทรทัศน์ Fox News เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ JunkScience.com
นอกจากนี้ เขายังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทน้ำมันและบริษัทยาสูบอีกด้วย
ที่ผ่านมา สตีเวน มิลลอย เป็นที่รู้จักจากแนวคิดต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกและไม่เชื่อในผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง
ในสมัยรัฐบาลของ โดนัล ทรัมป์ ทาง สตีเวน มิลลอย ยังเป็นผู้สนับสนุนให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (USEPA) ยุบคณะกรรมการพิจารณาปัญหาฝุ่นละออง (Particulate Matter Review Panel) อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jun/20/steve-milloy/particulate-matter-is-not-junk-science-decades-of/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter