🎯 ตามที่มีการแชร์ “8 พฤติกรรมการนอนกรน เช่น มีคนเห็นหยุดหายใจขณะหลับ กัดฟันและขากระตุก ตื่นนอนคอแห้งและเจ็บคอมากผิดปกติ ตื่นนอนมีอาการปวดศีรษะมาก ตื่นนอนแต่ยังง่วงนอนเหมือนพักผ่อนไม่พอ เป็นโรคความดันเลือดสูง ผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีอายุมากกว่า 50 ปี”จริงมั้ย ?
📌บทสรุป : ✅ ชัวร์ แชร์ได้ มีคำอธิบายเพิ่มเติม ✅
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ พญ.นวรัตน์ เกษมสุข ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้ง 8 ข้อที่แชร์กันเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างถูกต้อง เพราะการประเมินความเสี่ยงเรื่องหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการนอนกรนเป็นเรื่องที่จะต้องจัดการเพิ่มเติม ทางการแพทย์มีวิธีการประเมินอยู่ 8 ข้อคล้าย ๆ แบบสอบถาม
👉 ข้อ 1 มีคนเห็นหยุดหายใจขณะหลับ
อาการที่พบคือนอนหลับอยู่ เสียงกรนหยุดหายไป ผู้ป่วยมีอาการอึดอัด แล้วก็มีอาการเฮือกขึ้นมา อาจจะสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก รู้สึกเหนื่อย คล้าย ๆ จมน้ำ
👉 ข้อ 2 มีท่าทางผิดปกติขณะหลับ เช่น กัดฟัน ขากระตุก
ข้อนี้ไม่มีในแบบสอบถามทางการแพทย์
สำหรับอาการขากระตุก นอนกัดฟัน หรือการขยับตัวที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ ถือเป็นความผิดปกติลักษณะหนึ่งของการนอนหลับ ควรแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมตามตัวโรคต่อไป
👉 ข้อ 3 ตื่นนอนคอแห้ง เจ็บคอมากผิดปกติ
อาจจะเป็นสัญญาณหนึ่งเหมือนการอ้าปากหายใจ มีการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องคอ หรือว่าคัดจมูกมากจนผู้ป่วยต้องอ้าปากหายใจขณะหลับ
👉 ข้อ 4 ตื่นนอนมีอาการปวดศีรษะมาก
อาการปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า เป็นอาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่อาจจะมีการหยุดหายใจระหว่างหลับและมีค่าออกซิเจนในเลือดตกลงเป็นช่วง ๆ ระหว่างนอนหลับ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและมึนศีรษะหลังตื่นนอนได้
👉 ข้อ 5 ตื่นนอน แต่ยังง่วงนอน เหมือนพักผ่อนไม่พอ
ตื่นมาแล้วง่วงนอนเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นอาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล คือระยะเวลาการนอนค่อนข้างเพียงพอเหมาะสมดี แต่หลังตื่นนอนผู้ป่วยยังรู้สึกเหมือนนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นนอนแล้วยังไม่สดชื่น และมีอาการง่วงกลางวันมาก
👉 ข้อ 6 เป็นโรคความดันเลือดสูง
ความดันเลือดสูงเป็นโรคร่วมที่สำคัญมาก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันเลือดสูงอยู่ และถ้ามีปัญหาเรื่องการกรนด้วยสมควรได้รับการตรวจประเมินอย่างเหมาะสม เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้แล้วมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยก็จะทำให้โรคความดันเลือดสูงแย่กว่าที่ควรจะเป็น
👉 ข้อ 7 เป็นผู้ชาย ผู้หญิง วัยหมดประจำเดือน
ในทางการแพทย์ ถ้าเป็นเพศชาย นับว่ามีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 1 ข้อเลยทีเดียว
ส่วนเพศหญิง ถ้าเปรียบเทียบกับเพศชาย ความเสี่ยงจะน้อยกว่าระดับหนึ่ง แต่เมื่ออายุมากขึ้นและอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ก็จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น
👉 ข้อ 8 มีอายุมากกว่า 50 ปี
อายุมากกว่า 50 ปี เป็นปัจจัยหนึ่งใน check list การประเมินความเสี่ยงของโรคหยุดหายใจขณะหลับด้วยเช่นกัน
ในทางการแพทย์มีแบบทดสอบประเมิน 8 ข้อ ที่ชื่อว่า STOP-Bang ฉบับภาษาไทย
มีการประเมินว่าผู้ป่วยมีอาการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับให้คนรอบตัวเห็น มีง่วงกลางวัน มีโรคอ้วน เป็นความดันเลือดสูง เป็นเพศชาย มีอายุมากกว่า 50 ปี มีเส้นรอบวงคอมากกว่า 40 เซนติเมตร
ถ้าประเมินแบบสอบถามเบื้องต้นนี้ได้คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 3 คะแนนขึ้นไป ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ใครก็ตามที่นอนกรนสามารถเข้ารับการตรวจประเมินได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงอายุ 50 ปี
การสังเกตอาการเบื้องต้น ทำให้ป้องกันและรักษาอาการได้ก่อนที่จะสายเกินไป
ตรวจสอบโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
สามารถรับชมคลิปรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 8 พฤติกรรมการนอนกรน เสี่ยงหยุดหายใจ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter