ชัวร์ก่อนแชร์: การบำบัดเพื่อการข้ามเพศทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น จริงหรือ?

20 มิถุนายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


บทสรุป :

  1. การฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของการบำบัดเพื่อการข้ามเพศ
  2. การบำบัดเพื่อการข้ามเพศในเด็กที่มีภาวะ Gender Dysphoria ช่วยลดความเสี่ยงการฆ่าตัวตายของกลุ่มวัยรุ่น LGBTQ+ อีกด้วย

ข้อมูลที่ถูกแชร์ :


มีข้อมูลเท็จเผยแพร่โดย แมตต์ เวลช์ คอลัมนิสต์และนักจัดรายการผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม อ้างว่าอัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอเมริกันกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการขยายตัวของการบำบัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender-Affirming Care) สำหรับเด็กและเยาวชน แสดงว่าการบำบัดเพื่อการข้ามเพศส่งผลให้เด็กมีความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

คำกล่าวอ้างดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ แมตต์ เวลช์ ไปให้การต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรรัฐเทนเนสซี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการผ่านกฎหมายห้ามการบำบัดเพื่อการข้ามเพศ ทั้งการใช้ยาปิดกั้นฮอร์โมนทางเพศและใช้ฮอร์โมนทดแทนของเพศตรงข้ามสำหรับเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีในรัฐเทนเนสซี โดยจะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2023 นี้


สาเหตุการเสียชีวิตของชาวอเมริกันแบ่งตามช่วงอายุ (CDC)

หนุ่มสาวอเมริกันฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระหว่างปี 2007 ถึง 2018 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของชาวอเมริกันอายุระหว่าง 10-24 ปี เพิ่มขึ้นถึง 57.4% โดยมีสัดส่วนการฆ่าตัวตายเพิ่มจาก 6.8 ต่อประชากร 100,000 ราย เมื่อปี 2007 เป็น 10.7 ต่อประชากร 100,000 ราย ในปี 2018

โดยปี 2019 การฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของชาวอเมริกันอายุ 10-24 ปีอีกด้วย

หนุ่มสาว LGBTQ+ ฆ่าตัวตายในสัดส่วนสูงกว่าประชากรทั่วไป

ข้อมูลจาก The Trevor Project องค์กรสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ พบว่า เยาวชนอเมริกันที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ และคนข้ามเพศมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปเช่นกัน

ผลสำรวจเมื่อปี 2022 ของ The Trevor Project พบว่า เยาวชนอเมริกันกลุ่ม LGBTQ+ มีความคิดอยากฆ่าตัวตายในช่วงปี 2021 ถึง 50% และมีถึง 1 ใน 5 ที่พยายามฆ่าตัวตายมาแล้วในปี 2021

เอมี กรีน หัวหน้าทีมวิจัยของกลุ่ม Hopelab และอดีตรองประธานทีมวิจัยของ The Trevor Project ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้เยาวชน LGBTQ+ ค้นพบหรือเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนในวัยที่น้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้เยาวชน LGBTQ+ ต้องเผชิญกับการถูกกีดกัน ถูกปฏิเสธ และถูกกล่าวโทษเพราะเพศสภาพในวัยที่น้อยกว่าแต่ก่อนอย่างมาก การไม่พร้อมรับแรงกดดันตั้งแต่อายุยังน้อย นำไปสู่การฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นของเยาวชน LGBTQ+

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจของมหาวิทยาลัย UCLA เมื่อปี 2022 พบว่า มีชาวอเมริกันที่เป็นคนข้ามเพศประมาณ 1.6 ล้านคน โดยเป็นเยาวชนข้ามเพศประมาณ 300,000 คน การที่เยาวชนข้ามเพศมีสัดส่วนเพียง 1.4% ของจำนวนเยาวชนทั้งประเทศ ทำให้การฆ่าตัวตายของเยาวชนข้ามเพศ ไม่น่าจะส่งผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นของเยาวชนอเมริกันโดยรวม

ความเสี่ยงฆ่าตัวตายของวัยรุ่น LGBTQ+ (Trevor Project)

การบำบัดเพื่อการข้ามเพศ ช่วยให้เยาวชนข้ามเพศฆ่าตัวตายลดลง

การบำบัดเพื่อการข้ามเพศ คือการรักษาที่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศที่มีภาวะ Gender Dysphoria หรือการทุกข์ทรมานใจที่อัตลักษณ์ทางเพศและเพศกำเนิดไม่สอดคล้องกัน

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายลดลงอย่างมาก เมื่อเยาวชนที่มีปัญหาด้านอัตลักษณ์ทางเพศ สามารถเข้าถึงการบำบัดเพื่อการข้ามเพศ

ดร. แจ็ค เทอร์บาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านจิตวิทยาเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก รวบรวมงานวิจัยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตและการบำบัดเพื่อการข้ามเพศจำนวน 16 งานวิจัย เผยแพร่ในนิตยสาร Psychology Today โดยพบว่า 13 จาก 16 งานวิจัยยืนยันว่า การบำบัดเพื่อการข้ามเพศ ทั้งการใช้ยาปิดกั้นฮอร์โมนทางเพศและใช้ฮอร์โมนทดแทนของเพศตรงข้าม ช่วยให้เยาวชนข้ามเพศมีสุขภาพจิตดีขึ้น ทั้งความเศร้าหมองที่ลดลงและแนวคิดการฆ่าตัวตายลดลง

ผลสำรวจปี 2021 ของ The Trevor Project ที่สอบถามเยาวชนข้ามเพศอายุระหว่าง 13-24 ปีจำนวน 34,759 คน พบว่าผู้ที่เข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมน มีความเศร้าและความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มเยาวชนข้ามเพศที่ต้องการบำบัดด้วยฮอร์โมน แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึง

งานวิจัยปี 2022 ที่เผยแพร่ทางวารสารการแพทย์ JAMA Network ที่สำรวจเยาวชนอายุระหว่าง 13-20 ปีซึ่งเป็นกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มคนไม่ระบุเพศชายหญิง (Nonbinary) จำนวน 104 คน พบว่ากลุ่มที่เข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศมาแล้วเป็นเวลา 12 เดือน มีความเศร้าระดับปานกลางและระดับรุนแรงลดลง 60% มีความคิดฆ่าตัวตายลดลง 73% เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนที่ยังไม่ได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมน

งานวิจัยปี 2023 ที่เผยแพร่ทางวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine พบว่า วัยรุ่นอายุ 12-20 ปีจำนวน 315 คน ที่เข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเป็นเวลามากกว่า 2 ปี มีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนความเศร้าและความกังวลใจลดลง

นอกจากการบำบัดทางการแพทย์แล้ว การสนับสนุนของสังคมรอบข้างยังช่วยลดความเครียดของเยาวชนข้ามเพศอย่างมาก

ข้อมูลปี 2022 ของ The Trevor Project จากการสำรวจความเห็นเยาวชนที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มคนไม่ระบุเพศชายหญิง (Nonbinary) จำนวน 16,000 คนพบว่า การได้ใช้ชื่อที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริง รวมถึงการยอมรับจากครอบครัว สถานศึกษา และสมาชิกในชุมชน ช่วยให้ความคิดฆ่าตัวตายลดลงอย่างมาก

ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นอเมริกันฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน นักวิชาการยังไม่อาจสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นอเมริกันฆ่าตัวตายมากขึ้น

รีดา วอล์คเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮูสตัน ระบุว่าการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนอเมริกัน น่าจะมาจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง การแข่งขันด้านการศึกษา การเข้าถึงอาวุธปืน การกักตัวจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาการใช้ยาแก้ปวดที่สกัดจากฝิ่นเกินขนาด (Opioid Epidemic) ล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนฆ่าตัวตายมากขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังมองว่าการบำบัดเพื่อการข้ามเพศที่เพิ่มขึ้น ไม่มีส่วนทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้นแต่อย่างใด

แม้การบำบัดเพื่อการข้ามเพศจะเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทียบกันแล้วก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา Gender Dysphoria

โรงพยาบาลเด็กในเมืองชิคาโก คือสถานพยาบาลแห่งแรกที่เปิดบริการการบำบัดเพื่อการข้ามเพศในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2007

ข้อมูลของ Human Rights Campaign องค์กรสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ พบว่า ในปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีคลินิกที่ให้บริการการบำบัดเพื่อการข้ามเพศแบบครบวงจรเพียง 59 แห่งเท่านั้น

ส่วน The Trevor Project ยังพบว่ามีเยาวชนข้ามเพศกว่า 60% ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดเพื่อการข้ามเพศได้

(การประท้วงกฎหมายห้าม
การบำบัดเพื่อการข้ามเพศในเด็กของรัฐเทนเนสซี)

ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการออกกฎหมายห้ามการบำบัดเพื่อการข้ามเพศให้กับเยาวชนอเมริกัน โดยเฉพาะในรัฐที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยม

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นฟ้องรัฐเทนเนสซีเพื่อยับยั้งการบังคับใช้กฎหมายห้ามการบำบัดเพื่อการข้ามเพศแก่เด็กและเยาวชนในรัฐเทนเนสซี เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ละเมิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกป้องการกีดกันทางเพศ เพราะไม่มีใครควรถูกปฏิเสธการรักษาที่จำเป็น เพียงเพราะการเป็นคนข้ามเพศ

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.politifact.com/factchecks/2023/mar/08/matt-walsh/gender-affirmation-is-linked-to-improved-mental-he/
https://apnews.com/article/gender-affirming-care-tennessee-ban-817981c7d66a443951f4c6dbee6dabc1

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ระเบิดรถครู ตชด.

ทราบกลุ่มคนร้ายก่อเหตุระเบิดรถครู ตชด.สองพ่อลูก

ทราบคนร้ายก่อเหตุระเบิดรถครู ตชด.สองพ่อลูก จ.นราธิวาส แล้ว วันก่อเหตุมีแนวร่วมปฏิบัติการประมาณ 6 คน กลุ่มเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐ

หมายจับผู้มีพระคุณ

ออกหมายจับผู้มีพระคุณจ้าง “เอ็ม กองเรือ” สังหารอดีต สส.กัมพูชา

ตำรวจเร่งล่า “สมหวัง” ผู้มีพระคุณของ “เอ็ม กองเรือ” หลังศาลออกหมายจับใช้จ้างวานสังหาร “ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา

เศร้า ฝังศพ “พ่อ-ลูก” ครู ตชด. เหยื่อวางระเบิด

ประชาชน-ตำรวจตระเวนชายแดน นับพันคน ร่วมพิธีฝังศพ 2 พ่อลูก ครู ตชด. เหยื่อผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดในพื้นที่ จ.นราธิวาส

ข่าวแนะนำ

เหงาและเศร้า ขาดครูใหญ่สุวิทย์ และครูโดม

บรรยากาศโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอ จ.นราธิวาส วันที่ไม่มีครูใหญ่สุวิทย์ และครูโดม ดูเงียบเหงา เต็มไปด้วยความโศกเศร้า

นายกฯ ลงพื้นที่ยะลา พบนักเรียน-ผู้นำศาสนา ปลื้มต้อนรับอบอุ่น

นายกฯ ขึ้น ฮ. ลงยะลา ทักทายเป็นภาษามลายู พบนักเรียน-ผู้นำศาสนา ท่ามกลางฝนตกโปรยปราย ปลื้มต้อนรับอบอุ่น บอกมีตรงไหนเดือดร้อน รัฐบาลพร้อมสนับสนุน ลั่นอยู่ศาสนาใด-เชื้อชาติใด คนไทยด้วยกัน ขอรักสามัคคีกัน

“ปอ ตนุภัทร” บอกอยากให้ทำเหมือนเหตุการณ์จริง “แตงโม” ตกเรือ

“ปอ ตนุภัทร” ขอบคุณจำลองเหตุการณ์ “แตงโม” ตกเรือ แต่ทำทั้งทีอยากให้ทำเหมือนเหตุการณ์จริง ด้าน “แซน” เชื่อมีเจตนาดิสเครดิตตน ซัดไม่ได้จบทนาย อาจไม่รู้ข้อกฎหมาย แนะให้เรียนเนติก่อน

นายกฯไปนราธิวาส

นายกฯ นำคณะถึงนราธิวาส สวมเสื้อสูท “ลายนรารวมใจ”

“นายกฯ อิ๊งค์” ถึงนราธิวาสสวมเสื้อสูท “ลายนรารวมใจ” สีชมพูบานเย็น หวานฉ่ำ ถ่ายทอดความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนชาวนราธิวาส ที่มีความรัก สามัคคี ประสานความสัมพันธ์บนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมอันงดงามของจังหวัดนราธิวาส