สธ. 16 เม.ย.- กรมควบคุมโรค แนะประชาชนที่ทยอยเดินทางกลับจากสงกรานต์ ให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. เคร่งครัดป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) พร้อมทั้งสังเกตอาการตนเอง หากสงสัยติดเชื้อ ให้ตรวจ ATK
วันนี้ (16 เมษายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต มีความห่วงใยประชาชน ได้มอบนโยบายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ติดตามการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 และการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน พร้อมสร้างเสริมกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และหลังจากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะทยอยเดินทางกลับเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด ขอให้ผู้เดินทางขับขี่ด้วยความระมัดระวังตลอดเวลาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยข้อมูลของศูนย์การเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรค สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ช่วงเฝ้าระวังเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 64 พบผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวม 20,060 ราย แยกเป็นผู้บาดเจ็บ 19,709 ราย (ร้อยละ 98.25) เสียชีวิต 351 ราย (ร้อยละ 1.75) ซึ่งมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 24.14) ยานพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุด ได้แก่ จักรยานยนต์ (ร้อยละ 79.11) รองลงมา รถกระบะ (ร้อยละ 5.64) ส่วนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ข้อมูลวันที่ 11-15 เม.ย. 65 พบอุบัติเหตุรวม 1,478 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) 1,452 ราย ผู้บาดเจ็บ (OPD) ไม่รวมกทม. 10,534 ราย เสียชีวิต 204 ราย โดยการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทั้งนี้ พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย
กรมควบคุมโรค จึงขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนพักผ่อนให้เพียงพอ หากง่วงให้พัก ขับขี่อย่างปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุจราจร ด้วยมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. ดังนี้ 1.ด่านตนเอง ตระหนักและหากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรขับรถ 2.ด่านครอบครัว ตักเตือน และไม่ให้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ไปขับรถ 3.ด่านชุมชน คัดกรองและประเมินคนเมาที่ขับขี่ยานพาหนะ โดยเน้นที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนสายรอง และ 3 ม. ได้แก่ 1.ไม่เมา เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุ 2.สวมหมวกนิรภัย เพราะจากข้อมูลยานพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ จักรยานยนต์ 3.สวมแมส ป้องกันโควิด 19
สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับจากสงกรานต์แล้ว ให้สังเกตอาการตนเองและเฝ้าระวัง 7 วัน หากมีอาการสงสัยติดเชื้อ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้ทำการตรวจ ATK หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก หากต้องพบผู้อื่น ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา WFH ตามความเหมาะสม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด โดยเน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 .-สำนักข่าวไทย