สธ. 4 เม.ย.- สธ. ห่วงสงกรานต์เมาแล้วขับ ย้ำปฏิเสธเป่าวัดเมา ต้องโดนเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ ย้ำช่วง 7 วันอันตรายตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้ฟรี อนาคตเตรียมของบฯ สนับสนุนทำให้ไม่มีค่าใช้จ่าย หลังทุกปีต้องใช้งบฯ 20-30 ล้านบาท
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในแถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ว่า เนื่องจากสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย 2565 ปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยขอให้ยึด 3 ด่านในการควบคุมป้องกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ 1.ด่านตัวเอง สำรวจตัวเอง สร้างความตระหนัก 2.ด่านครอบครัว ให้คนในครอบครัวช่วยกันตักเตือน หากเมาแล้วต้องไม่ขับ ขับต้องไม่ดื่ม 3. ด่านชุมชน มีตั้งด่านตรวจทั้งในถนนหลักและถนนรอง พร้อมย้ำว่าผู้ขับขี่ไม่สามารถปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และหากไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะไม่สามารถวัดระดับแอลกอฮอล์ได้ ให้เจาะเลือดแทน วัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดแทน ตามคำขอของเจ้าพนักงาน เช่น หมดสติ โดยการวัดระดับแอลกอฮอล์ และการเจาะเลือดในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีข้อยกเว้น แม้จะไม่มีคู่กรณีก็ตาม หากใครปฏิเสธการวัดระดับแอลกอฮอล์ถือว่าผู้นั้นเมา
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้มีการสอบเทียบเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้ในช่วงเทศกาล พร้อมยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ในช่วง 7 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2565 เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ โดยปกติค่าตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ จะเสียค่าบริการ รายละ 1,000 บาท สำหรับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ควรตรวจในช่วงเวลาไม่เกิน 6 ชม. นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่คงอยู่
นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด ลดลง แต่อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับยังไม่ลดลง พบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกต่อไปในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ทางกรมควบคุมโรคจะเร่งหางบประมาณ มาสนับสนุนในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ให้หน่วยงานนำส่งไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากพบว่าในการตรวจในช่วง 7 วันอันตราย มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-2 ล้านบาท หากรวมทั้งปีจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20-30 ล้านบาท โดยระดับแอลกอฮอล์ที่ถือว่าเข้าข่ายเมาแล้วขับ ในผู้ใหญ่ อายุ เกิน 20 ปีขึ้น ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ส่วนในเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะเข้าข่ายเมาแล้วขับ ต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ซึ่งในกลุ่มเยาวชน ต้องมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย เนื่องจากจะใช้ในการตรวจจับสถานบริการที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์
ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมวิทยาศาสาตร์การแพทย์ ในการดำเนินการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกฮอล์ในเลือด ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 มีจำนวน 784 คน และมีถึง 55% ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินค่าที่กำหนด ส่วนใหญ่อายุ 20-29 ปี .-สำนักข่าวไทย