กรุงเทพฯ 8 มี.ค.-ก.สาธารณสุข ห่วงหญิงตั้งครรภ์ กลับมาติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเหมือนปีก่อน ย้ำต้องป้องกันตัวเองเข้มข้นตลอด และเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ หลังพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไม่ได้รับวัคซีนมากถึง 87%
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ถึง 5 มีนาคม 2565 พบมีการติดเชื้อ โควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์เพิ่มมากขึ้นถึง 224 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ถึง 5 มีนาคม 2565 พบหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ติดเชื้อโควิดสะสม 7,210 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 110 ราย หรือคิดเป็น 1.5% ทารกแรกเกิดที่คลอดจากหญิงติดเชื้อ 4,013 ราย ทารกติดเชื้อ 319 ราย คิดเป็น 8% เสียชีวิต 67 ราย คิดเป็น 1.6%
จากการวิเคราะห์พบว่าหญิงกลุ่มติดเชื้อต้องผ่าตัดคลอดเพิ่มมากขึ้นกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติถึง 53% และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม ถึง 15% เมื่อดูแนวโน้มรายเดือนจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงปี 2564 พบการติดเชื้อสูงสุดในเดือนสิงหาคม มีหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ติดเชื้อสูงสุด 1,728 คน และลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2564 มาปี 2565 มีแนวโน้มหญิงตั้งครรภ์ กลับมาติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นนับจากเดือนมกราคม จากข้อมูล 4 สัปดาห์ย้อนหลัง เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ถึง 12 กุมภาพันธ์ พบการติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์เริ่มสูงขึ้นทุกสัปดาห์ตั้งแต่ 59 คน 71 คน 157 คน 224 คนตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงอัตราการติดเชื้อในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มสูงมากขึ้นใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์จึงต้องระมัดระวังเข้มข้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงผลสำรวจอนามัยโพล พบภาพรวมหญิงตั้งครรภ์ 98% มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 สาเหตุมาจากสังคมเริ่มการ์ดตกในการดูแลป้องกัน/สถานที่ต่าง ๆ เริ่มมีคนแออัด ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน
ส่วนการเฝ้าระวังความเสี่ยงของตนเองในหญิงตั้งครรภ์ สำรวจเมื่อ 7 มีนาคม 2565 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ถึง 81% ทำเป็นประจำ คือ สังเกตอาการตนเองเบื้องต้น, มีการตรวจเอทีเค แสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังตนเองของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องขอชื่นชมว่าเป็นเรื่องที่ดีและต้องสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป และควรทำเช่นนี้ไม่เฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เท่านั้นควรทำในคนทุกกลุ่ม
ส่วนการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ 7,210 รายที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่ากว่า 87% ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าถ้าได้รับวัคซีนครบ2เข็มจะมีอัตราการตายลดลงกว่า 10 เท่า ส่วนข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนล่าสุดเข็มที่หนึ่ง 117,385 ราย เข็มที่สอง 105,094 ราย เข็มที่สาม 17,361 ราย และถ้าหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนสองเข็มจะมีอาการเจ็บหนักเพียงแค่ 8% เท่านั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีน 240,000 ราย ส่วนผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนมีเหมือนคนปกติทั่วไป จึงขอให้หญิงตั้งครรภ์เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะเป็นการป้องกันที่ดี โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ในทุกอายุครรภ์
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการดูแลหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อโควิด-19 ว่า หากไม่มีโรคประจำตัวหรือภาวะครรภ์เสี่ยงสูงสามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ งดเยี่ยมระหว่างแยกกักตัวรักษาระยะห่าง สิ่งสำคัญในห้องหญิงตั้งครรภ์นอนควรเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่ควรอยู่ร่วมกันในห้องปรับอากาศ ซึ่งอาจติดเชื้อได้ ที่สำคัญไม่ควรอยู่ร่วมกับเด็ก เรื่องการกินอาหารร่วมกันกับคนอื่น ทุกคนที่อยู่ในบ้านต้องมีการสวมหน้ากากตลอดเวลา จุดสัมผัสร่วมเช่นกลอนประตูหน้าต่างสวิตช์ไฟต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาด เสื้อผ้าแยกซักต่างหาก ห้องน้ำใช้เป็นคนสุดท้ายหรือแยกห้องน้ำ ขยะต้องทิ้งดีกว่าปิดมิดชิดใช้น้ำยาทำความสะอาด เทลงฆ่าเชื้อก่อนนำไปทิ้งด้านนอก อาการที่ควรเฝ้าระวังกรณีแยกกับตัวที่บ้าน คือท้องแข็งเลือดออกทางช่องคลอดน้ำใส่สายไหลออกทางช่องคลอดหรืออาการของครรภ์เป็นพิษ เช่น ปวดศีรษะตาพร่ามัวจุกแน่นลิ้นปี่ รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ส่งสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์ไว้ และควรระวังอาการหายใจหอบเหนื่อยที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการปอดอักเสบให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
ส่วนคำถามที่พบบ่อยคือหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดทุกคนหรือไม่นั้น นพ.เอกชัย กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องแล้วแต่ดุลพินิจของแพทย์ และอาการของหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหลังคลอดสามารถอุ้มลูกได้ แม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดหอมแก้มลูกแต่ถ้าทารกติดเชื้อต้องแยกไปหอผู้ป่วยเด็ก ส่วนการให้ลูกดูดนมสามารถทำได้ เพราะเชื้อโควิด-19 ไม่ติดทางน้ำนม แต่ต้องทำความสะอาดเต้านมที่ทารกจะดูดนมให้ดี ส่วนการกินยาเมื่อหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อในสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจรหรือฟาวิพิราเวียร์ แต่จะมียาชนิดอื่นใช้กับหญิงตั้งครรภ์ คือ เรมเดซิเวียร์.-สำนักข่าวไทย