สธ.8 พ.ย.-ที่ปรึกษากรมการแพทย์ เผย12พ.ย.นี้ เตรียมหารือไฟเซอร์รอบ 3 นำเข้ายาแพกซ์โลวิด รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่ยาโมลนูพิราเวียร์ อยู่ระหว่างเสนอ ครม. คาด ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้นปี 65
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดหายารักษาโควิด-19 ชนิดรับประทาน ทั้ง ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และ ยาแพกซ์โลวิด (PAXLOVID) ว่า ยาทั้ง 2 ชนิดเป็นยาที่ช่วยในการต้านเชื้อไวรัส เพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกายของมนุษย์ โดยจากการศึกษาพบว่า การใช้ยาโมนูลพิราเวียร์ในผู้ป่วย 775 คน โดยมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ได้รับยาจริง 385 คนและยาหลอก 377 รับประทานยาวันละ 2 เวลา เช้า 4 เม็ด , เย็น 4 เม็ด ต่อเนื่อง 5 วัน รวม 40 เม็ดต่อคน ช่วยลดความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ 50 %
ส่วนยาแพกซ์โลวิด ของบริษัทไฟเซอร์ ต้องใช้คู่กับยาริโทนาเวียร์ กินวันละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นยาแพกซ์โลวิด 2 เม็ด ,ยาริโทนาเวียร์ 1 เม็ด ต่อเนื่อง 5 วัน รวมทั้งหมด 30 เม็ดต่อคน จากการศึกษาในผู้ป่วย 774 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่รับยาหลอก 385 คน และกลุ่มที่รับยาแพกซ์โลวิด ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ 389คน พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลได้ 89 % หากให้ยาภายใน 3 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และช่วยลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลได้ 85 % หากให้ยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ
นพ.อรรถสิทธิ์ ระบุว่าการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ได้ดำเนินการหารือกับบริษัทเมอร์ค ผู้ผลิตยา ตั้งแต่ ก.ค.64 ดูข้อมูลยาและผลการวิจัย เสนอต่อ ศบค. ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ จนขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป มาถึงตอนนี้เข้าใจว่า USFDA หรือองค์การอาหารและยาสหรัฐ กำลังพิจารณาการขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ในไม่นานนี้ ส่วนประเทศไทยไทย หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กรมการแพทย์ได้เตรียมดำเนินการไว้ ประมาณการว่าในช่วงเดือน ธ.ค.64–ม.ค.65 หากขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อย ก็จะสามารถนำยามาใช้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19ได้
ขณะที่ความคืบหน้าการจัดหายาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาตัวใหม่ ได้มีการคุยรายละเอียดกับตัวแทนของบริษัท ไฟเซอร์แล้วตั้งแต่ ส.ค.64 ซึ่งได้นำข้อมูลการศึกษายาตัวนี้ เข้ามาพูดคุยกับผู้บริหารของกรมการแพทย์และได้มีการลงนาม CDA หรือ การลงนามรักษาความลับไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ในเดือน ต.ค.64 มีการคุยกันรอบที่สอง ถึงความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัย และจะมีการนัดคุยกันอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ในวันที่ 12 พ.ย.64 เพื่อหารือความเป็นไปได้ที่จะจัดหายามาใช้ ทางบริษัทผู้ผลิตเองได้ดำเนินการคู่ขนานในการขึ้นทะเบียน กับ FDA ของสหรัฐ
ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า ยาทั้ง 2ชนิดใช้ในการรรักษาโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง หากนำมาใช้รักษาได้เร็ว ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่นาน จะได้ผลในการรักษาที่ดี ทำให้ผู้ป่วยที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ เสียชีวิตลดลง ลดการใช้ไอซียูและเครื่องช่วยหายใจ ถ้ายาทั้ง 2 ชนิดสามารถเข้าถึงได้ง่าย จะทำให้การควบคุมสถานการณ์การระบาดทำได้ดี เป็นความหวังใหม่ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 .- สำนักข่าวไทย