กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – พม.เผยยอดรายงานผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวพบว่าในช่วงโควิดพุ่งสูงเฉลี่ย 200 เรื่องต่อเดือน
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวช่วงวิกฤติโควิด
โดยระบุว่าจากข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีฯ สถิติความรุนแรงในครอบครัว ระหว่างเดือน ต.ค.63-ก.ย.64 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2,177 ราย โดยเพศที่เป็นฝ่ายกระทำคือ เพศชาย 86% ที่น่าสนใจคือ 65% เป็นคนที่ไม่เคยกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน
ส่วนที่ถูกกระทำเป็นเพศหญิง 81% ช่วงอายุที่พบถูกทำร้ายมากที่สุดคือ วัยกลางคน (36-59 ปี) 34% ส่วนใหญ่จะความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา 41% และเมื่อเกิดความรุนแรงมักไม่ดำเนินคดีสูงถึง 77%
ปัญหาที่พบเป็นการทำร้ายร่างกายมากที่สุดถึง 64% รองลงมาคือ จิตใจ 32% และเรื่องเพศ 4% ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นคือ ยาเสพติด สุรา การพนัน หย่าร้าง การหึงหวง รวมถึงความเครียดทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19
โดยความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นสูงสุดในบ้านถึง 88% สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดการระบาดหนักอีกครั้งในระลอกที่ 2 และ 3 ที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่ในบ้าน ลดการติดเชื้อ
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว บอกว่าหากดูสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 61 เฉลี่ยมีเหตุรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 61 เฉลี่ย 113 เรื่องต่อเดือน ปี 62 ขยับมาเป็น 140 เรื่องต่อเดือน ปี 63 ยังเฉลี่ยใกล้เคียงปี 62 แต่ที่น่าตกใจคือ ปี 64 ค่าเฉลี่ยขยับไปเป็น 200 เรื่องต่อเดือน ซึ่งสถานการณ์โควิดเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ด้วยมาตรการปิดสถานที่หรืองดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ประกอบกับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความเครียดที่ถาโถมเข้ามา แต่ไม่สามารถออกไปผ่อนคลายได้เหมือนเดิม จึงสะสมความเครียดไว้ หลายคนจึงเลือกหาทางออกด้วยการดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด ยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวบานปลายมากขึ้น
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว บอกด้วยว่าจากนี้ต้องเน้นย้ำสร้างความเข้าให้คนในสังคมว่าถ้าหากความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ขอให้ผู้ถูกกระทำในครอบครัว หรือผู้พบเห็น ขอให้รีบแจ้งแจ้งตำรวจ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่หมายรวมถึงทุกคน ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ได้ระบุมาตรา 6 ไว้อย่างครอบคลุมแล้วว่าผู้พบเห็นสามารถแจ้งได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเป็นเรื่องของครอบครัวอื่น เราไม่สามารถแจ้งได้.-สำนักข่าวไทย