สธ. 20 ต.ค.-กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้ทุนเรียนต่อสถาบันพระบรมราชชนก 7,000 คน พร้อมเผยเกณฑ์ประเมินเปิดเรียน ดูจำนวนการระบาดในพื้นที่ระดับตำบล อำเภอ รวมกับการฉีดวัคซีนในครู-นักเรียน ให้ คกก.จังหวัดตัดสิน ส่วนพื้นที่ใต้ที่ระบาดหนักให้เรียนออนไลน์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามความร่วมมือให้โอกาสเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสาตร์สุขภาพ ผ่านโครงการ สบช.สัญจร โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษาและมอบโควตาทางการศึกษาแก่นักเรียน 7,000 คน คัดเลือกจากนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร โดยเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านสุขภาพ หรือมีความสามารถด้านศิลปะ ซึ่งจะเริ่มสัญจรใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ในวันที่ 29 ต.ค.64 และ 23-24 พ.ย.64 ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในเด็กนั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในวันศุกร์จะมีการหารือวางกรอบเร่งรัดการฉีดวัคซีนในเด็กให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงเกณฑ์การเปิดภาคเรียนที่จะเริ่ม 1 พฤศจิกายนนี้ได้ โดยจะนำเกณฑ์การระบาดในพื้นที่มาร่วมตัดสินใจในการเปิดภาคเรียน แต่ไม่ได้มองเป็นรายจังหวัด แต่มองในระดับตำบลและอำเภอ หากไม่มีการระบาด 2-3 เดือน รวมกับการเร่งรัดฉีดวัคซีนในครู นักเรียน ก็จะนำมาพิจารณา โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ และเสนอต่อ ศบค.ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การเปิดภาคเรียน นอกจากดูเรื่องของมาตรการความปลอดภัย และการที่สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรฐานแล้ว จะพิจารณาเรื่องการระบาดของโควิดในพื้นที่แบบระดับตำบลและอำเภอมาประกอบการพิจารณา พื้นที่ไหนระบาดน้อยก็เปิดก่อน ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการระบาดของโควิดอย่างหนัก ก็อาจกลับไปใช้แนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติมา เช่น การเรียนแบบออนไลน์ แทน.-สำนักข่าวไทย