กรุงเทพฯ 16 ต.ค.-16 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันอาหารโลก” (World Food Day) อย. มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อสร้างคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร กำกับดูแลทุกขั้นตอน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อนำส่งอาหารที่ปลอดภัยให้ผู้บริโภค
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันอาหารโลก” (World Food Day) ซึ่งตรงกับวันก่อตั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations, FAO) เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกเกิดความตระหนักและสร้างความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาความอดอยาก หิวโหยและทุพโภชนาการ สำหรับประเทศไทย ได้เข้าเป็นสมาชิกของ FAO ในลำดับที่ 45 ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2490 ส่งผลให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีด้านอาหารระหว่างประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 73 ปีเกิดการพัฒนาระบบอาหารของประเทศในทุกด้านได้อย่างทัดเทียมกับสากล
สำหรับวันอาหารโลกในปีนี้กำหนดคำขวัญว่า “Our actions are our future- Better production, better nutrition, a better environment and a better life” ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการลงมือปฏิบัติสิ่งที่ดีขึ้นในปัจจุบันเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารที่ดีขึ้น โภชนาการอาหารที่ดีขึ้น การมีสิ่งแวดล้อมและชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศที่รับผิดชอบกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ใช้มาตรการต่างๆ ทั้งการส่งเสริมและการกำกับดูแลการผลิตอาหารเพื่อให้ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย และยังมีมาตรการด้านการส่งเสริมโภชนาการอาหาร เช่น การแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนโดยกำหนดให้มีการเสริมไอโอดีนในเกลือบริโภคและเครื่องปรุงรสเค็ม การให้การรับรอง “อาหารทางเลือกสุขภาพ” สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดน้ำตาล โซเดียมและไขมันได้ตามเกณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกสุขภาพมากกว่า 2,408 รายการในท้องตลาด รวมทั้งยังได้กำหนดให้แสดงฉลากโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณค่าโภชนาการผ่านฉลากอีกด้วย การดำเนินงานของ อย. ดังกล่าวจะเป็นการรับประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ด้วยระบบอาหารในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต อย. จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงระบบการกำกับดูแลและส่งเสริมการผลิตอาหารภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การพัฒนา อย. สู่การเป็นองค์กรดิจิตอล การพัฒนากฎระเบียบให้รองรับอาหารชนิดใหม่ที่มีการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน ตามคำขวัญ “วันอาหารโลก ปี ค.ศ.2021” ที่ว่า “Our actions are our future- Better production, better nutrition, a better environment and a better life”.-สำนักข่าวไทย