ปทุมธานี 9 ก.ค. – ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. สสจ.ปทุมธานี ค้น 6 ร้านยามหาภัยในพื้นที่ปทุมธานี รวบ 6 เภสัชเก๊ เครือข่ายกระจายยาแก้ไอให้วัยรุ่นสาย 4×100
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้จำหน่ายยาแก้ไอในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ผู้จำหน่ายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 6 ราย พบเปิดเป็นร้านยาเพื่อเป็นเครือข่ายกระจายยาแก้ไอให้วัยรุ่นใช้ผสมน้ำต้มใบกระท่อม พฤติการณ์สืบเนื่องจากจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้จับกุมเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมและร้านขายยาที่จำหน่ายยาแก้ไอให้กลุ่มวัยรุ่นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในหลายพื้นที่ก่อนหน้านี้ โดยนำไปผสมน้ำต้มใบกระท่อมดื่มเพื่อสร้างความมึนเมา
โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบว่า ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี มีร้านยาที่เปิดในลักษณะเครือข่ายหลายร้าน ซึ่งมีเจตนาจำหน่ายยาแก้ไอโดยเฉพาะ โดยมีการอำพรางโดยวางยาประเภทอื่นไว้เพียงเล็กน้อย และบางร้านจำหน่ายเฉพาะยาแก้ไอโดยไม่มียาประเภทอื่นจำหน่ายภายในร้านเลย จนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก. ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบร้านขายยาในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 6 ร้าน
จากการสืบสวนขยายผล พบว่าร้านที่เข้าตรวจทั้ง 6 ร้าน เป็นร้านเครือข่าย ที่มีผู้รับอนุญาตเป็นคนนามสกุลเดียวกัน โดย 2 ใน 6 เป็นร้านที่ไม่มีใบอนุญาตร้านเหล่านี้ มุ่งเปิดร้านเพื่อทำการขายยาน้ำแก้แพ้แก้ไอ หรือยาเขียวเหลืองเพื่อนำไปผสมเป็นสูตร 4 × 100 นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้รับอนุญาตรายนี้
เคยถูก อย. สั่งพักใช้ใบอนุญาต และได้ขอยกเลิกใบอนุญาต จากนั้นย้ายร้านมาเปิดแถวปทุมธานีหลายร้าน พอมีการตรวจจับก็มาขอยกเลิกใบและไปขอเปิดร้านใหม่ รวมตรวจค้น 6 จุด ตรวจยึดของกลาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 123 รายการ โดยเป็นยาแก้แพ้แก้ไอ 10,525 ขวด, ยาเขียวเหลือง 57,960 เม็ด มูลค่ากว่า 844,260 บาท จับกุมผู้ต้องหาซึ่งไม่ใช่เภสัชกรและไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม จำนวน 6 ราย โดยผู้ต้องหาจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 5 ราย เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
- พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
- ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษปรับ 1,000 – 5,000 บาท
- สำหรับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ(เภสัชกร) มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐาน “ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ รวมถึงไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยา อันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท. -416-สำนักข่าวไทย