สธ. 29 ก.ย.- สธ. ลงนามร่วมแอสตราฯ จัดหาวัคซีนในปี 65 ใช้เป็นบูสเตอร์โดส หรือ เข็ม 3 จำนวน 60 ล้านโดส แจงสัญญามีความยืดหยุ่น หากผลการศึกษาวิจัยวัคซีนเจน 2 สำเร็จ สามารถนำมาใช้ได้ทันที คาดส่งวัคซีนได้ไตรมาส1 ปี65 ด้านผอ.สถาบันวัคซีนฯ แจงทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาวัคซีนเจน 2 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เบตา ที่มีการดื้อต่อวัคซีน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวง ได้ร่วมพิธีเซ็นสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับตัวแทนบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด โดยการลงนามครั้งนี้ เป็นการจัดหาวัคซีนไว้ สำหรับบริการประชาชนในปี 2565 เพื่อเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้กับประชาชน ซึ่งทางผู้ผลิต ต้องส่งให้ไทย 60 ล้านโดส ในไตรมาส 1 จำนวน 15 ล้านโดส,ไตรมาส 2 จำนวน 30 ล้านโดส และไตรมาส 3 จำนวน 15 ล้านโดส และระหว่างการส่งมอบตามสัญญา หากทางบริษัท แอสตราฯ เกิดประสบความสำเร็จ ในการศึกษาวัคซีนเจนเนอเรชันที่ 2 ก็ต้องให้ไทย ได้มีทางเลือกในเปลี่ยนตัววัคซีนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ใช้งบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนแอสตราฯ ในสัญญาใหม่จะใช้ฐานผลิตในประเทศไทยเป็นหลัก โดยช่วงแรกบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย สามารถผลิตได้เดือนละราว 15 ล้านโดส แต่ด้วยความชำนาญที่มากขึ้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 20 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยในเดือน ก.ย. ส่งมอบวัคซีน ให้ไทย 8 ล้านโดส และยังส่งออกอีกจำนวนหนึ่ง และในเดือน ต.ค. คาดว่าจะส่งมอบ 10 ล้านโดสให้ไทย และเดือน พ.ย. ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ทั้งหมดเป็นความพยายามระหว่างแอสตราฯ และสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนหนึ่งทางแอสตราฯ ก็พยายามหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาเพิ่มให้ด้วย พร้อมย้ำว่าสำหรับสัญญาการจัดหาวัคซีนนี้ มีความยืดหยุ่น หากแอสตราเซเนกา สามารถผลิตวัคซีนในเจนเนอเรชัน 2 ได้สำเร็จก็สามารถเปลี่ยนวัคซีนที่สั่งซื้อมาได้ทันที ส่วนนำวัคซีนแอสตา ฯ มาบูสเตอร์เข็ม 3 นั้น ต้องมีการนำข้อมูลเรื่องการศึกษาวิจัยมาประกอบเสริมกันด้วย เบื้องต้นผู้ที่รับวัคซีนแอสตรา 2 เข็ม สามารถใช้บูสเตอร์กับวัคซีนแอสตราฯ เพิ่มได้ และให้ผลดี แต่ทั้งนี้ ต้องรอผลวิจัยทยอยออกมา เช่นเดียวกับการนำแอสตราฯ มาบูสเตอร์หลังรับวัคซีนแบบชนิด mRNA ก็ต้องรอดูแลศึกษาวิจัยเช่นกัน เพราะวัคซีนแอสตราฯ มีข้อดีในการกระตุ้นภูมิฯ ระดับเซลล์ ส่วน mRNA ใช้กระตุ้นภูมิฯ ระดับแอนติบอดีสูง ดังนั้น 2 ชนิดอาจสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องติดตามงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องการศึกษาวิจับวัคซีน เจน 2 นั้น ส่วนใหญ่ขณะนี้ อยู่ในการทดลองในคน ในเฟสต่างๆ และเป็นการศึกษาทดลองวัคซีนที่มีความครอบคลุม เชื้อโควิดสายพันธุ์เบตา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการดื้อวัคซีน แต่ในมุมมองของคนทั่วไป คิดว่าต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่ความจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์มองว่า เชื้อเดลตาในปัจจุบัน วัคซีนที่ผลิตเดิม ยังสามารถตอบสนองได้ดี .-สำนักข่าวไทย