กทม. 19 ส.ค.-สธ. ห่วงหญิงตั้งครรภ์ ยังเสียชีวิตทุกวัน วันนี้วันเดียวมีเสียชีวิตถึง 6 คน ขณะที่มีจำนวนหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศยังไม่ถึง 10% รณรงค์และสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ไปฉีดวัคซีน ที่คลินิกฝากครรภ์และทำงานที่บ้านให้มากที่สุด
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาพ กรมอนามัยเปิดเผยว่า ตัวเลขหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตยังมีทุกวัน เฉลี่ยตั้งแต่วันละ 2 – 3 ราย เด็กในครรภ์เสียชีวิตด้วย ล่าสุดมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อยอดทั้งหมด 2,327 ราย เฉลี่ยหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อถึงวันละกว่า 50 ราย เสียชีวิตแล้วถึง 53 ราย ลูกเสียชีวิต 23 ราย ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับการฉีดวัคซีนน้อยมากถึงปัจจุบันเพียง 2 หมื่นกว่าราย และจากสถิติมีหญิงตั้งครรภ์ปีละ 5 แสนราย ทำให้การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ยังไม่ถึง 10% จากการวิเคราะห์พบใน 53 รายของสตรีมีครรภ์ที่เสียชีวิตเป็นผู้มีโรคประจำตัว อันดับหนึ่ง คือ แม่มีอายุมากว่า 35 ปี เบาหวาน ความดันสูง และในจำนวนที่เสียชีวิต ฉีดวัคซีนแล้วเพียง 2 รายเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อ ติดจากครอบครัว ส่วน 13 คำถาม-คำตอบ ที่พบบ่อยประเด็นโควิด-19 กับสตรีตั้งครรภ์ คือ
- หญิงตั้งครรภ์ถ้าติดโควิดจะมีอันตรายมากกว่าสตรีปกติ มีโอกาสเข้าไอซียู สูงกว่า 2 – 3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจสูงกว่า 2.6 – 2.9 เท่า เสียชีวิต 1.5 – 8 คนใน 1,000 คน
- ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคในหญิงตั้งครรภ์รุนแรงได้แก่อายุมาก อ้วน มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน และครรภ์เป็นพิษ
- ถ้าติดเชื้อจะมีผลต่อลูกหลายอย่าง คือ คลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า เด็กตายคลอด 2.8 เท่า ลูกต้องเข้าไอซียู 4.9 เท่า ลูกติดเชื้อได้ 3 – 5%
- สตรีตั้งครรภ์ควรตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเร็วถ้าสงสัยจะติดเชื้อ เช่น มีอาการไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือไม่มีอาการ แต่เป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง
- สตรีตั้งครรภ์ติดโควิดจะมีอาการไอมากที่สุด 50% รองลงมา คือ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไข้ เจ็บคอ
- หญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อหมอจะรับไว้ในโรงพยาบาล เพื่อแยกจากคนที่ไม่ติด ประเมินอาการให้การรักษาและติดตามคนสัมผัสใกล้ชิดมาตรวจหาเชื้อ
- หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องผ่าท้องคลอด จะทำตามที่แพทย์พิจารณา
- หลังคลอด จะมีการแยกลูกออกไปตรวจหาเชื้อก่อน หากไม่พบเชื้อในลูก แม่สามารถกอดแล้วอุ้มได้ แต่ต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และงดหอมแก้ม
- แม่ติดเชื้อสามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ แต่ต้องระวังไม่ให้ลูกติดเชื้อ โดยสวมหน้ากาก ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก หลีกเลี่ยงไอจามขณะให้ลูกดูดนม เช็ดทำความสะอาดวัสดุรอบข้างหรือใช้วิธีปั๊มนมให้พี่เลี้ยงเอาให้ลูกกิน
- ถ้าแม่ติดเชื้อและได้ยาฟาวิพิราเวียร์ควรงดให้นมลูกเพราะยาจะออกมาทางน้ำนมได้
- สตรีตั้งครรภ์หากจะฉีดวัคซีนควรปรึกษาสูติแพทย์ตามปกติแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ วัคซีนไม่จำกัดชนิด ผลข้างเคียงของวัคซีนพบน้อยไม่แตกต่างจากคนทั่วไป หลีกเลี่ยงฉีดวัคซีนโควิดพร้อมวัคซีนชนิดอื่น หรือเลื่อนห่างกันอย่างน้อยสองสัปดาห์
- ถ้าฉีดวัคซีนไปแล้วพบว่าตั้งครรภ์ไม่ต้องตกใจ เพราะข้อมูลยังไม่พบว่าวัคซีนทำให้เกิดทารกพิการ ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่เมื่อพบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนให้เลื่อนเข็มที่สองออกไปฉีดเมื่ออายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ไปแล้ว
- สตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนได้หลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจตั้งครรภ์ก่อนฉีด ไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนจะทำให้มีลูกยาก
สรุปสตรีตั้งครรภ์ ให้คงมาตรการ DMHTT โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ควรประเมินความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” ถ้าพบเสี่ยงให้ตรวจ ATK ทันที โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ต้องทำงานในที่เสี่ยงสูงหรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด .-สำนักข่าวไทย