สสส.11 พ.ย.-สสส.ชวนฝ่าวิกฤติฝุ่นPM2.5 รับมือฝุ่นที่กำลังจะมาช่วง ธ.ค.-ม.ค.นี้ ดึงนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 7 ด้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หาทางออกให้ประเทศ สร้างความตระหนักภัยคุกคามสุขภาพ ลดมลพิษทางอากาศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.และศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย” ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ มาร่วมสร้างความตระหนักรู้และตื่นตัวในการป้องภัยฝุ่นPM2.5 ภัยร้ายต่อสุขภาพที่อาจมองข้ามให้กับประชาชน
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่นพิษ PM2.5 มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น การนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนจึงควรมีความชัดเจน ตรงเป้า คลอบคลุมประเด็นที่มีความหลากหลายเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สสส.คัดสรรผู้นำที่มีความสามารถเชิงวิชาการและอัตลักษณ์ เฉพาะตัว ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่1.พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาสุขภาพอาเซียน 3.นิติศาสตร์ 4.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5.การลงทุน 6.วิศวกรรมศาสตร์ และ 7.วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมถึงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ทั้ง 13 ชาติพันธุ์ ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศทั่วประเทศ ในการนำ องค์ความรู้ความสามารถมาใช้คิด พัฒนา และส่งเสริมให้มีการสื่อสารจนเกิดการตระหนักถึงภัยร้ายของมลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติอย่างยั่งยืน
“สสส.เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยใช้ Prime Mover เป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในงานสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นอื่นๆ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนสังคม ถือว่าเป็นมิติใหม่สำหรับประเทศไทยในการที่มีกลุ่มนักวิชาการสหสาขาวิชาที่อุทิศตนอย่างมุ่งมั่น เกาะติดในประเด็น และที่สำคัญ มีความถนัดเฉพาะทางที่แตกต่างกันแต่มีจุดร่วมกันคือการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองในการฝ่าวิกฤติฝุ่นควัน ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชนและส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งภาพลักษณ์และบรรยากาศในการลงทุนภายในประเทศ” นายชาติวุฒิ กล่าว
ด้าน ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า Prime Mover สามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ โดยเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการภาครัฐ (Public Sector Managerial Change) โดย Prime Mover 1 คนจะมีทีมลงพื้นที่จากกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ที่สนใจแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอีก 5 คน และจะเพิ่มสมาชิกกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าปัญหาสุขคนไทย ทั้ง โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ อัลไซเมอร์ หัวใจ มะเร็ง ส่วนหนึ่งเกิดจากได้รับฝุ่นPM2.5
ขณะที่ รศ.ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การหลงลืมก่อนวัยอันควรล้วนเกี่ยวข้องกับฝุ่นและมลพิษ เช่นปรากฏการณ์ในเกาหลีพบว่า คนเป็นเบาหวาน สัมพันธ์ กับฝุ่น และสหรัฐฯ70% คนที่เป็นมะเร็งจะคลุกคลีกับฝุ่น อยากให้ทุกคนตระหนักต้องหันมาดูแลสุขภาพเรื่องฝุ่น นอกเหนือจากเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย เพราะฝุ่นเป็นตัวนำพาสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย
อย่างไรก็ตาม กทม.จะเชิญนักวิชาการไปให้ความรู้ด้านการจัดการปัญหาฝุ่น เพื่อเตรียมรับรองPM2.5ที่กำลังจะมาในช่วงธ.ค.-ม.ค.นี้ คาดหวังที่จะสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนร่วมกันป้องกันและร่วมกันสร้างอากาศ ที่สะอาด ลดการใช้เครื่องยนต์ดีเซล หันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการเผาไหม้นอกเหนือจากการจัดการปัญหาของภาครัฐ .-สำนักข่าวไทย