นิวเดลี 21 เม.ย. – รายงานคุณภาพอากาศประจำปี 2567 ของไอคิวแอร์พบว่าเมืองเบิร์นนิฮัตของอินเดียครองแชมป์เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก
รายงานประจำปีของไอคิวแอร์ ซึ่งเป็นบริษัทตรวจวัดคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่าเมืองเบิร์นนิฮัต ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมตั้งอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างรัฐอัสสัมและเมฆาลัยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้ว โดยมีค่าเฉลี่ยของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงถึง 128.2 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร
ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่แทรกซึมเข้าสู่ปอดได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดผื่นคันตามผิวหนังและทำให้ระคายเคืองตา นอกจากนี้ยังกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ชาวบ้านในเมืองเบิร์นนิฮัตบอกว่าเสื้อผ้าไม่สามารถตากไว้นอกบ้านได้ พืชผักต่างๆ ก็ได้รับความเสียหาย อย่างเช่นกะหล่ำปลีที่ปลูกเอาไว้พบว่าใบผักเน่าและกลายเป็นสีดำจากฝุ่นละลอง ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นสีดำไปหมด สาเหตุหลักมาจากการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ราว 80 โรงในเมืองแห่งนี้ รวมไปถึงควันดำจากยานพาหนะขนาดใหญ่ ประกอบกับสภาพพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะทำให้อากาศระบายได้ไม่ดี
รายงานไอคิวแอร์ฉบับนี้เป็นข้อมูลที่รวบรวมจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกว่า 4 หมื่นจุดใน 138 ประเทศและดินแดน ซึ่งพบว่ามีเมืองต่างๆทั่วโลกเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่มีคุณภาพอากาศได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและมีเพียง 7 ประเทศที่ค่าเฉลี่ยของคุณภาพอากาศได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย บาฮามาส บาร์เบโดส เอสโตเนีย เกรเนดา ไอซ์แลนด์ และนิวซีแลนด์
ส่วนประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย สาธารณรัฐชาด บังกลาเทศ ปากีสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอินเดีย โดย เมืองที่อากาศสะอาดที่สุด ในโลกเมื่อปีที่แล้วคือเมืองมายาเกวซ ของประเทศเปอร์โตริโก ซึ่งมีค่าพีเอ็ม 2.5 เพียง 1.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น.-816.-สำนักข่าวไทย