สธ.19 ต.ค.- รมว.สธ.เผยคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 วางความร่วมมือทุกหน่วย งานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนไทยมีวัคซีน คาดกลางปี 64 คนไทยมีวัคซีนใช้แน่
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนไทย”พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข , นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน ตั้งเป้าหมายครอบคลุมร้อยละ 50 ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้โดยเร็วที่สุด ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มี 3แนวทาง คือจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement), การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากต่างประเทศ และการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนา รมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility (Expression of Interest) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือ เพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ รวมทั้งได้เจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป ซึ่งได้ดำเนินการไปพร้อมกับการเจรจาแบบกลุ่มเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตราเซนเนกา ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563
สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย
นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 50 ของประชากรคนไทยทั้งหมดในการจัดหานั้นจะแบ่งออกเป็น 1.การจองวัคซีนกับโครงการ COVAX facility ประมาณร้อยละ 20 2.จากแอสตราเซนเนกาและมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดอีกร้อยละ 20 และ3.อีกร้อยละ 10 เป็นการเจรจาวัคซีนกับแหล่งอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนโครงการCOVAX facility นั้นอยู่ระหว่างการเจรจาจองวัคซีน ซึ่งหากบริษัทใดกว่า20 ประเทศทำเสร็จ ก็คาดว่าไทยจะได้ใช้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งตามไทม์ไลน์ตั้งไว้ไม่น่าเกินกลางปี 2564 .-สำนักข่าวไทย