สธ.2 ต.ค.-ปธ.คกก.ด้านสาธารณสุข เสนอ 5 กิจกรรมปฏิรูประบบสาธารณสุข ชูการแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ให้ทันสมัยต่อไปไม่ต้องพึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปฎิรูปสุขภาพวัยแรงงาน จัดให้ทุกสถานประกอบการมีการจดข้อมูลสุขภาพคนทำงาน จูงใจให้สถานประกอบการใดทำดี ลดการจ่ายเงินสมทบในประกันสังคม และเตรียมหันงบส่งเสริมป้องกันโรค ออกจากงบรักษา
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ทางคณะกรรมการปฏิรูป ได้มีการนำเสนอข้อมูลด้านสุขภาพ และทางรองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบ เตรียมนำไปรายงานต่อประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศต่อไป โดยในส่วนของสาธารณสุข เน้นการปฏิรูป 5 กิจกรรมหลัก
1.การปฏิรูปภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ครอบคลุมโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 ที่บทเรียนนี้ทำให้เห็นว่า ต้องมีการแก้ไย พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 โดยจะเน้นเรื่องการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับกฎหมายกระทวงอื่นๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ต่อไปในอนาคตไม่ต้องใช้การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
2.ปฎิรูปด้านสาธารณสุข ด้านการส่งเสริมป้องกันโรค เน้นการดูแลสุขภาพในกลุ่มแรงงาน กำหนดให้ทุกสถานประกอบการต้องมีการ ส่งเสริมตรวจและป้องกันโรคเพื่อไม่ให้วัยแรงงาน ต้องเผชิญกับโรคเรื้อ เอ็นซีดี (เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง )ที่ท้ายสุดกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากพบว่า ร้อยละ 70 ของประชากรโลก 56 ล้านคนป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และพบว่าสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ร้อยละ 50 มาจากพฤติกรรม ทั้งการรับประทานอาหารและใช้ชีวิตและมีร้อยละ25 ที่ควบคุมน้ำตาลได้อยู่
อย่างไรก็ตามกระทรวแรงงานต้องเข้ามาดูแลโดยใช้มาตรการเชิงบวกจูงใจบริษัทและคนให้หันมาใส่ใจสุขภาพ กำหนดให้ทุกบริษัท มีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสุขภาพโดยเฉพาะและส่งข้อมูลนี้ให้กับประกันสังคม เพราะหากทำได้ดี พนักงานมีการควบคุมน้ำหนักหรือโรคได้ก็ให้ลดการจ่ายเงินสมทบได้ครึ่งหนึ่งหรือลดลงเหลือ การจ่ายสมทบแค่ 500 บาทนี้เพื่อเป็นการจูงใจ
3.การดูแล ผู้สูงอายุ ให้มีสุขภาพดี
4.การปฏิรูประบบการเงินการคลังใหม่ให้มีนโยบายด้านเอกภาพมีแนวทางการส่งเสริมป้องกันโรค นำงบประมาณส่งเสริมและป้องกันมารวมกัน ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และ สวัสดิการราชการ เพื่อให้เกิดการป้องกัน โดยมุ่งหวังลดงบประมาณรักษาให้ เหลือ ร้อยละ 35 จากเดิมร้อยละ 70
และ 5.ปฏิรูป เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข นำร่อง 4 เขต แก้ไขปัญหาสุขภาพแบบครบวงจร ทั้ง สูงวัย โรคเรื้อรัง
ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นชอบกับแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูป ด้านสาธารณสุขนำเสนอ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาภายในระบบสาธารณสุขแบบครบวงจร และผลของการดำเนินงานคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขนี้ จะถูกไปนำเสนอในคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหญ่ 13 คณะ ในวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อรายงานความคืบหน้า .-สำนักข่าวไทย